นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปีนี้ซีพีตั้งเป้าหมายรายได้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 12% จากปี 2560 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,947 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2561) ธุรกิจของซีพีในเวียดนามทำรายได้อยู่ที่ 1,891 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31%

ขณะที่ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาซีพีเวียดนามมีการลงทุนในเวียดนามไปแล้ว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนอกจากซีพีจะมีแผนลงทุนโรงงานแปรรูปไก่เพื่อการส่งออกทางภาคใต้ในปีหน้าแล้ว ยังมีแผนลงทุนโรงงานแปรรูปสุกร เงินลงทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563 และในระยะถัดไปมีแผนลงทุนโรงงานอาหารสัตว์อีกประมาณปีละ 1-2 แห่ง

โดยในส่วนของโรงงานผลิตอาหารสัตว์หาย เยือง ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม บนพื้นที่ 60 ไร่ กำลังการผลิต 60,000 ตันต่อเดือน หรือ 7.2 แสนตันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 19-20% เทียบกับธุรกิจอาหารสัตว์จากเกาหลีและผู้ผลิตท้องถิ่น สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจนี้ในเวียดนาม จากการผลิตอาหารสัตว์บก 7 โรง กำลังการผลิตรวม 4 ล้านตันต่อปี และโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมี 3 โรง กำลังการผลิตรวม 4 แสนตันต่อปี เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าในเขตภาคเหนือของเวียดนามในหายเยือง ฮานอย หายฝ่อง และหมันฝิ่น 55% และใช้เอง 45%

สำหรับผลผลิตจากฟาร์มในปี 2561 มีกำลังการผลิตทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ แบ่งเป็น สุกรขุน 6.5 ล้านตัว ไก่เนื้อ 66 ล้านตัว ไข่ไก่ 750 ล้านฟอง ปลา 45,800 ตัน กุ้ง 6,500 ตัน และกุ้งแช่แข็ง 11,200 ล้านตัว ซึ่งประเทศเวียดนามตั้งเป้าหมายเป็นประเทศส่งออกกุ้งเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568 จากปีที่ผ่านมาส่งออกที่ 3.3 แสนตันต่อปี โดยซีพีตั้งเป้าหมายมีส่วนแบ่งตลาด 5 แสนตันต่อปี โดยปี 2562 มีแผนขยายโรงเพาะอีก 50,000 ล้านตัวต่อปี และขยายโรงงานผลิตอาหารกุ้งเพิ่มอีก 2 แสนตันต่อปี จากปัจจุบัน 3 แสนตันต่อปี

นายมนตรี กล่าวว่า เวียดนามมีจุดเด่นที่เป็นประเทศเกษตรกรรม คนมีความขยัน กระตือรือร้น มีการบริโภคสูง เช่น เนื้อสุกร 50 ล้านตัวต่อปี แต่มีเสถียรภาพเรื่องการเมืองที่มีการบริหารโดยรัฐบาลเดียว สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก หลังเวียดนามเปิดประเทศและมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนชัดเจน หลายประเทศจึงใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปตลาดทั่วโลก ดังนั้นโอกาสที่เวียดนามจะไล่แซงไทยก็ไม่ใช่เรื่องยาก ตราบใดที่การเมืองของเวียดนามยังเข้มแข็ง ทุกภาคส่วนก็มองและเดินไปในเป้าหมายที่เป็นทิศทางเดียวกัน

“เวียดนามแตกต่างจากไทยที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากกว่าไทย โดยส่วนตัวคิดว่าเวียดนามยังจะเปิดประเทศรับนักลงทุนให้ได้มากที่สุดจากหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งไทยไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงทีพีพี ทำให้นักลงทุนสูญเสียโอกาสการลงทุนในไทย ทางซีพีจึงใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศข้อตกลงทีพีพีขยายออกไปทั่วโลกในตลาดที่มีศักยภาพ” นายมนตรี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน