นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ ทอท. เตรียมความพร้อมรองรับปัญหาน้ำท่วมขังของ ทดม. ในช่วงฤดูฝน ปี 2559 นั้น ทอท. ดำเนินการและวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ทดม. อาทิ การกำจัดขยะภายในทางระบายน้ำ ขุดลอกท่อระบายน้ำ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยปกติ ทดม. สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ถึง 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการพร่องน้ำในพื้นที่ของ ทดม.

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเกิดมรสุมที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานและมีปริมาณน้ำฝนมาก ทำให้ ทดม. ต้องรองรับปริมาณฝนมากกว่า 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทดม. จึงจำเป็นต้องมีการสูบระบายน้ำออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ โดยการสูบระบายน้ำจากสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่โดยรอบ ทดม. ทั้งหมด 12 สถานี ทั้งนี้ จะมีปริมาณความสามารถในการสูบน้ำรวมประมาณ 48,840 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมกับสถานีสูบระบายน้ำของกองทัพอากาศจำนวน 2 สถานี ทำให้ ทดม. มีความสามารถในการสูบระบายน้ำรวมเพิ่มอีกประมาณ 26,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยมี จุดระบายน้ำออกจาก ทดม. 3 จุด ได้แก่ ด้านทิศเหนือบริเวณครัวการบินไทยระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร ด้านอาคารคลังสินค้าจะระบายน้ำลงคลองข้างถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งจะลงสู่คลองหลักสี่ และด้านทิศใต้ระบายน้ำลงสู่คลองบางเขน

นอกจากนี้ ทอท. ยังดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากสถานีระบายน้ำ ทดม. ทางฝั่งทิศตะวันตก ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่ดำเนินการโดย รฟท. ผ่านท่อลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อระบายน้ำลงสู่ระบบระบายน้ำของ รฟท. ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้าง 850 เมตร จากความยาวรวมทั้งสิ้น 900 เมตร คาดว่างานก่อสร้าง ท่อระบายน้ำดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559 เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ ทดม. สามารถระบายน้ำจากฝั่งทิศตะวันตกผ่านพื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดง ลงสู่คลองเปรมประชากรได้อย่างสะดวก ลดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณ ถนนกำแพงเพชร 6 และถนนเชิดวุฒากาศ ในขณะที่กรุงเทพมหานคร กำหนดตั้งโรงสูบระบายน้ำเพื่อระบายน้ำจากพื้นที่ รฟท. ลงสู่คลองเปรมประชาอีกด้วย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนต.ค. 2559 ทั้งนี้ ในการระบายน้ำออกจาก ทดม. จะคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนเป็นสำคัญ โดยจะได้มีการประสานงานกับสำนักงานเขตดอนเมืองและชุมชนอย่างใกล้ชิด

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทดม. ยังได้จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของท่าอากาศยานไว้แล้ว เพื่อรองรับกรณีเกิดอุทกภัยในท่าอากาศยาน รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่หน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการสามารถป้องกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารและผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน