ชาวบ้านบ่นค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงเกินเหตุ ร้องกระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหา “สนธิรัตน์” รับลูกเตรียมขึ้นบัญชี ยาและเวชภัณฑ์และค่าบริการโรงพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุม พร้อมเสนอตั้งคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลระยะยาว เตรียมเสนอ กกร.พิจารณาวันที่ 9 ม.ค.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมหารือแนวทางการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน และสมาคมประกันชีวิตไทย ว่า จะเข้าไปแก้ไขปัญหาราคายาและค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนตามที่ประชาชนร้องเรียน โดยทางมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ใช้กลไกควบคุมราคา

ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้ที่ประชุมไปหาข้อสรุปในเรื่องของราคาเพดานยาและบริการ และค่ารักษาพยาบาล และให้นำกลับมาประชุมอีกครั้งในเดือน ม.ค.2562 หลังจากนั้น จะเรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อนำบริการทางการแพทย์เข้าสู่บัญชีควบคุม โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมายมากำหนดเพดานราคายาและค่ารักษาพยาบาลตามที่ได้ข้อสรุปในที่ประชุม

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการข้อกฎหมายเข้ามาดูแล เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นมาตรการระยะสั้น ที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแล ส่วนมาตรการระยะยาว จะให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำเป็นมาตรฐานด้านบริการฉุกเฉินอยู่แล้ว นำมาบังคับใช้และรับทราบสิทธิ์อย่างเต็มที่ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายให้มากที่สุดกันต่อไป

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันใน 2 ประเด็น คือเสนอให้ยา เวชภัณฑ์ รวมทั้งค่าบริการโรงพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุม เนื่องจากปัจจุบัน ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์มีสัดส่วนสูงในการรักษาพยาบาล และแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน จึงกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนไปดูต้นทุนยาและกำไรที่เหมาะสมเพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วย

ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.ได้กำหนดให้ยาเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้วแต่ไม่ได้รวมเวชภัณฑ์ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเอ็กซเรย์ จึงต้องเสนอให้เป็นสินค้าควบคุม

โดยที่ประชุมยังเสนอตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการดูแลค่ารักษาพยาบาลระยะยาวร่วมกัน เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงสาธารณาสุข มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมประกันชีวิตไทย โดยเตรียมเสนอให้กกร.พิจารณาวันที่ 9 มกราคมนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณา กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน รักษาพยาบาลฟรีภายใน 72 ชั่วโมงแต่หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้วควรกำหนดค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเสนอว่าควรเป็นอัตราเดียวกัน

นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าพอใจกับผลการแก้ปัญหาระยะสั้น ที่มีการกำหนดเพดานราคายาควรบวกกำไรที่เหมาะสม เนื่องจากประเด็นนี้ มีการร้องเรียนเป็นอันดับสองของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด นอกจากนี้ มีการเสนอให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาลของบริการฉุกเฉินให้เป็นราคาเดียวภายหลังการรักษา 72 ชั่วโมง และควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่า บริการใดฟรีหรือไม่ฟรี ส่วนค่าผ่าตัด ค่าหัตถการ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งจะต้องไปพิจารณาในคณะอนุกรรมการชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้น 9 ม.ค.นี้

นายแพทย์พร้อมพงษ์ พีระบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า การออกมาตรการบังคับทางกฎหมายจะทำให้ โรงพยบาลเอกชนไม่มีความหลากหลายในการบริการ และเห็นว่าการกำหนดเพดานควบคุมต้องให้มีความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา

หากกำหนดไม่เหมาะสม จะทำให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนได้รับผลกระทบเพราะค่าบริหารจัดการของแต่ละโรงพยาบาลแตกต่างกัน ซึ่งค่าบริการโรงพยาบาลเอกชน จะแตกต่างกันตามคุณภาพ เช่น โรงพยาบาลระดับกลาง ค่าห้อง 2,000 บาทต่อคืน ระดับสูงคืนละกว่า 10,000 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนของเอกชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน