นายฟิลลิป อายส์วอด ประธานสมาคมส่งเสริมธุรกิจการจัดอินเซนทิฟระดับโลก The Society for Incentive Travel Excellence (SITE) เปิดเผยว่า แนวโน้มโลกของธุรกิจการจัดงานอินเซนทิฟหรือการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล มีการเติบโตเร็วที่สุดและมีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงที่สุดจากทุกกลุ่มของอุตสาหกรรมการจัดประชุมและการจัดนิทรรศการ (ไมซ์) ซึ่งนักเดินทางกลุ่มอินเซนทิฟส่วนใหญ่จะเดินทางอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน โดยเสน่ห์ของจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักเดินทางกลุ่มอินเซนทิฟ ได้แก่ ภาพลักษณ์ชื่อเสียงของประเทศ และแบรนด์ของเมืองหรือจังหวัดเป็นสิ่งสำคัญ เน้นการพัฒนาเมืองรองเป็นจุดหมายปลายทางใหม่เพื่อตอบโจทย์นักเดินทาง รวมถึงมีความนิยมในกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และเทคโนโลยีคือปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยมองว่าไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการจัดอินเซนทิฟที่สมบูรณ์แบบ มีความหลากหลายด้านกานท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การเดินทางเข้าถึงได้ง่าย มีโรงแรมที่พักและสถานที่จัดงานระดับห้าดาว อาหารการกินที่มีชื่อเสียงเป็นเอกลักษณ์

ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นในฐานะหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญด้านการจัดอินเซนทิฟของเอเชีย จึงได้รับเลือกให้จัดงานประชุมใหญ่ของสมาคมในครั้งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกรวม 363 คน และเป็นการกลับมาจัดประชุมที่ประเทศไทยครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

ด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอินเซนทิฟของไทยมีแนวโน้มดีมาก โดยมีอัตราการเติบโตถึง 20% ต่อเนื่องมา 7 ปี และในปี 2561 (สิ้นสุดปีงบประมาณเดือนก.ย. 2561) มีจำนวนนักเดินทางจากต่างประเทศทั้งสิ้น 369,370 ราย เติบโต 35.90% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี มีรายได้รวม 20,670 ล้านบาท เติบโต 23.80% สูงที่สุดในรอบ 7 ปี

โดยกลุ่มนักเดินทาง 10 อันดับแรกที่มีจำนวนสูงสุดได้แก่ จีน และ อินเดีย คิดเป็น 80% ที่เหลือเป็นมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ สปป. ลาว ขณะที่อเมริกา ยุโรปและแคนนาดา รวมแล้วมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ซึ่งถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวอินเซนทีฟระดับกลาง-สูง มีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนไม่ต่ำกว่า 4,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 128,000 บาท และบางกรุ๊ปอาจสูงถึง 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 600,000 บาท/คน ขณะที่ชาวจีนและอินเดีย ซึ่งมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 70,000 บาท สำหรับจุดหมายปลายทางของการจัดงาน คือ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต ตามลำดับ ส่วนกิจกรรมที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การนัดหมายประชุมทางธุรกิจล่วงหน้า การนำเที่ยวก่อนการประชุม อย่างไรก็ดี ในปี 2562 คาดว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มอินเซนทีฟจากต่างประเทศมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 388,000 ราย และสร้างรายได้ 21,700 ล้านบาท

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า ตลาดอินเซนทีฟเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้กับพนักงานในองค์ต่างๆ เมื่อกลับไปทำงานแล้วมีความคิดสร้างสรรค์ และมัดใจพนักงานให้รู้สึกว่าองค์กรมีการดูแลพนักงาน ดังนั้นในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นผู้จัดประชุมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ได้ในเชิงเศรษฐกิจซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 25 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ในเรื่องการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวอินเซนทีฟด้วย

ขณะเดียวกัน ทีเส็บยังได้ร่วมมือกับสมาคม SITE จัดหลักสูตรอบรมเพื่อเรียนรู้การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอินเซนทิฟ ในวันที่ 10-11 ม.ค. เพื่ออบรมเบื้องต้นและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์แนวทางการออกแบบโปรแกรมอินเซนทิฟ ที่สามารถกระตุ้นจูงใจผู้ร่วมงานให้พัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ เรียนรู้การตลาดและห่วงโซ่ของธุรกิจอินเซนทิฟ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมถึง 60 ราย จากฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และไทย ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยผ่านการอบรม CIS สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียรวมถึง 68 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน