ม็อบสหภาพการทางพิเศษ 200 คน บุกยื่นหนังสือ “อาคม” ค้านยืดสัมปทานด่วน 37 ปี แลกค่าโง่ 1.3 แสนล้านบาท ฝ่ายบริหาร เตรียมชงเรื่อง เสนอบอร์ด 23 ม.ค.นี้

วันที่ 16 ม.ค. ที่กระทรวงคมนาคม ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ร่วมกับ พนักงานการทาง พิเศษ แห่งประเทศไทย (กทพ.) กว่า 200 คน ได้เดินทางเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และคณะ กรรมการกำกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 โดยมีนายกฤเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน คัดค้านการต่อสัญญาอายุ สัมปทาน 37 ปี ที่เป็นไปตามมติบอร์ด กทพ. อนุมัติให้แลกสัมปทานกับหนี้สินคดีความ มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท

นายอาคม กล่าวหลังรับหนังสือว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ประเด็นที่สหภาพฯ กังวล คือ เรื่องของข้อมูลที่คณะกรรมการ กำกับดูแลโครงการตามสัญญาสัมปทาน อาจจะยังไม่ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ด่วนขั้น 2 และคณะกำกับดูแลโครงการทางด่วน สายบางปะอิน-ปากเกร็ด ต้องนำข้อมูลไปประเมิน ตัวเลข ความเสี่ยง และค่าเสียหาย

นายกฤเทพ สิมลี เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหาร กทพ. รายงานถึงผลการดำเนินการ พร้อมกับนำข้อมูลที่สหภาพฯ เสนอ รวมไปถึงเรื่องของข้อมูล ความเสี่ยง โดยหลังจากนี้ ฝ่ายบริหาร กทพ.จะนำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดไปพิจารณา ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในวันที่ 23 ม.ค.2562 หากได้ข้อสรุปเรื่องของสัญญาเรียบร้อย ก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง รวมถึงหากมีการปรับแก้เงื่อนไขสัญญา ก็จะ ต้องนำเสนอที่สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ข่าวแจ้งว่า ที่มาของวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่บอร์ดประเมินมูลค่าหนี้ที่ต้องจ่ายให้กับเอกชน จนเป็นเหตุให้เจรจาขยายสัมปทาน 37 ปี เพื่อชดเชยหนี้ดังกล่าว เป็นมูลค่าหนี้ที่มาจากคดีที่ศาลตัดสินแล้ว 4.3 พันล้านบาท คดีที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง เอกชนมีสิทธิ์เรียกร้องอีก 6.1 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าหนี้ราว 6.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีหนี้ที่ยังไม่เกิด แต่เป็นลักษณะคดีที่เอกชนมีสิทธิ์ฟ้อง 7 หมื่นล้านบาท ทำให้ บอร์ดรวมหนี้ส่วนนี้ลงไป เพราะต้องการล้างหนี้ทั้งหมดของ กทพ.ให้เป็นศูนย์ เพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการใน อนาคตต่อไป

ทั้งนี้ จุดยืนของสหภาพการทางฯ คือการไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่จะขยายสัญญาสัมปทาน 37 ปี ให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM) โดย กทพ.จะต้องจ่ายหนี้เฉพาะตามคำพิพากษาของศาล จำนวน 4.3 พันล้านบาท เนื่องจากศาลมีคำ พิพากษาให้ กทพ. แพ้คดีเพียงคดีเดียวเท่านั้น ดังนั้นหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีเพียง 4.3 พันล้านบาท ไม่ใช่ 1.37 แสนล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน