นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากสหภาพยุโรป(อียู) ปลดใบเหลือง การทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) ให้การทำประมงไทย แต่ไทยยังต้องต้องเพิ่มความเข้มงวดภายใต้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การประมง มากขึ้น เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้นำเข้า โดยมั่นใจว่าการส่งออกของประมงไทยจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพราะช่วงที่ไทยได้รับใบเหลืองไอยูยู แม้ไม่ใช่การสั่งแบนสินค้าประมงไทย แต่การส่งออกลดลงต่อเนื่องทุกปีเพราะผู้นำเข้าได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าไม่อยากเลือกซื้อสินค้าจากประเทศที่มีปัญหาไอยูยู

ในขณะเดียวกัน พ.ร.ก.การประมงดังกล่าว หลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน คาดว่า จะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ (พรบ.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะมีสิทธิ เท่าเทียมกัน เพียงแต่พรก. นั้นไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จึงเท่ากับว่า สภาฯ ไม่มีสิทธิ์ ปรับเปลี่ยน ต่างไปจากพรบ. ที่ทุกฉบับต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา ฯ

“ มาตรการที่เข้มงวดใน 3 ปีที่ผ่าน มาทำให้ปลาเข้ามาอยู่ในน่านน้ำไทยมากขึ้น ปลาตัวใหญ่ขึ้น กรมประมงจะเพิ่มโควตา และวันจับปลา ให้กับเรือ แต่ต้องใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเท่านั้น กรณีที่เป็นเรื่องมือใหม่ๆเข้ามาขอใบอนุญาตก็จะพิจารณาตามข้อเท็จจริง ทั้งหมดนี้เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง”

นายอดิศร กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะพิจารณาปรับเปลี่ยนพรก. การประมงในรูปแบบใด ก็ต้องยึดหลักความเข้มงวดทุกมาตราเป็นหลัก ในขณะที่ไม่ควรมีโทษทางอาญา แต่ใช้วิธีทางแพ่ง ปรับด้วยมูลค่าสูงสุด หรือยึดใบอนุญาต เพราะเป็นการลงโทษที่เรือทุกลำกลัว เนื่องจากการประมงในปัจจุบันเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจไปแล้ว

ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองชาวประมงทุกประเภท กรมประมงจะเร่งตั้งกองทุนช่วยเหลือ หรือชดเชยกรณีที่เกิดผลกระทบ รวมทั้งใช้ในการพัฒนา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแนวทาง คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะมีความก้าวหน้าบางอย่างเกิดขึ้น สำหรับเรือประมงพื้นบ้าน 27,000 ลำ ที่ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องออกใบอนุญาต ไม่กำหนดเขตจับปลา แต่เรือทุกลำต้องสร้างอัตลักษณ์ขึ้น ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการเริ่มให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเรือมีจำนวนมากและส่วนใหญ่อยู่ท้องถิ่นห่างไกล

“ในส่วนของเรือนอกน่านน้ำ ที่ผ่านมา ตามพ.ร.ก. ประมงไม่ได้ปิดกั้นให้ออกประมง แต่เนื่องจากไม่มีน่านน้ำประเทศใดเปิดรับทำให้เรือทุกลำยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ในขณะนี้มีข่าวดีจากพม่า และปาปัวนิกีนี ที่แจ้งว่าพร้อมให้เรือประมงไทยเข้าไปจับปลาได้แล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายของรัฐเจ่าท่าเท่านั้น”

ปัจจุบันกำหนดเกณฑ์ออกมาแล้ว แต่ต้องพิจารณาข้อมูลของเรือแต่ละลำเพื่อกำหนดวงเงิน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะแล้วเสร็จเสนอให้กระทรวงเกษตรฯเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน