เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ยิ้มออก ราคาไข่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณเข้าสู่สมดุล ดันราคาคละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท

ราคาไข่ไก่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น – นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้ส่งออกไข่ไก่ ออกประกาศขยับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท มีผลวันที่ 18 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ส่งสัญญาณสภาวะปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ล้นตลาด เริ่มเข้าสู่สมดุล หลังจากภาคเอกชนผู้นำเข้าไก่ไข่พันธุ์รายใหญ่ 16 บริษัท ให้ความร่วมมือลดจำนวนแม่พันธุ์ ลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง และผลักดันการส่งออกไข่ไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศ ตามแผนปฏิบัติการ “PS Support” ของกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน ซึ่งไข่ไก่เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีปริมาณผลผลิตจำนวนมากเกินความต้องการของตลาดในประเทศ ทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ขาดทุนสะสม โดยให้กรมปศุสัตว์เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนจัดทำโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ปี 2561 เน้นการสำรวจข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำอย่างรอบด้าน

ทั้งด้านปริมาณการผลิต โครงสร้างราคา รวมถึงปริมาณความต้องการบริโภคของตลาดในประเทศ การแปรรูปและการส่งออก แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์วางแผนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนนำมาสู่การขับเคลื่อนในภาคปฏิบัติ ภายใต้แผนปฏิบัติการ “PS Support” โดยมาตรการล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยกิจกรรมการรวบรวมไข่ไก่สดส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ 65 ล้านฟอง ควบคู่ไปกับกิจกรรมการลดจำนวนแม่ไก่ไข่ยืนกรง 1,000,000 ตัว และมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อความยั่งยืนด้วยกิจกรรมการลดแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) อายุ 25-60 สัปดาห์ จำนวน 100,000 ตัว

ซึ่งทั้ง 3 กิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้นำเข้าไก่ไข่พันธุ์ทั้ง 16 บริษัทอย่างดีเยี่ยม ผลการดำเนินการทั้ง 3 กิจกรรมแล้วเสร็จเมื่อสิ้นเดือนธ.ค. 2561 ส่งผลให้ปัจจุบันปริมาณผลผลิตไข่ไก่เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลกับความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศ ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจึงเริ่มปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นได้อีกเนื่องจากกิจกรรมส่งออกไข่ไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์

“การแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ทำให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำ โดยใช้แผนปฏิบัติการ “PS Support” ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ นั้น มั่นใจว่าเป็นการแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถขายไข่ไก่ได้ในราคาที่มีความพึงพอใจ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดอาศัยความมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายใหญ่ที่ให้ความเอื้ออาทรสู่ภาคเกษตรกรรายย่อย โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงสถานการณ์ไข่ไก่ในขณะนี้ ว่า กรมฯ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากระบบและเพิ่มการบริโภคภายในประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงไก่ไข่โดยเร่งด่วน โดยใช้มาตรการดึงผลผลิตออกจากระบบ ซึ่งได้ร่วมกับ 3 สมาคม คือสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ ร่วมกันผลักดันส่งออกไข่ไก่จำนวน 200 ตู้ ประมาณ 60 ล้านฟอง โดยมอบผู้ส่งออกที่มีศักยภาพดำเนินการรับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกเอง จำนวน 100 ตู้ ประมาณ 30 ล้านฟอง และอีก 100 ตู้ ประมาณ 30 ล้านฟอง ซึ่งกรมฯ สนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออกตู้ละ 150,000 บาท รวมวงเงิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาส่งออกตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. – 15 มี.ค. 2562

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้ดำเนินมาตรการเพิ่มการบริโภคในประเทศ โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการ/เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่นำผลผลิตมาจำหน่ายผ่านงาน “มหกรรมธงฟ้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค” ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ย. 2561 ต่อเนื่องถึงปี 2562 ซึ่งในปี 2562 มีแผนการจัดงานมหกรรมธงฟ้าฯ (ม.ค. – มี.ค. 2562) ในพื้นที่ 16 จังหวัด ซึ่งสามารถระบายผลผลิตไข่ไก่ผ่านช่องทางดังกล่าวได้ประมาณ 3 ล้านฟอง และจำหน่ายไข่ไก่ผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ กว่า 70,000 แห่ง เพื่อระบายผลผลิตส่วนเกินในระบบและลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งสามารถระบายผลผลิตไข่ไก่ผ่านช่องทางดังกล่าวได้ประมาณ 1.5 ล้านฟอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน