กนอ.จับมือ 3 พันธมิตรร่วมพัฒนาสมาร์ทปาร์ค ลุยโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ มั่นใจปิดรับซองแข่งประมูลท่าเรือมาบตาพุด 6 ก.พ. มีเอกชนยื่นซองมากกว่า 1 ราย

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับ 3 พันธมิตร ว่า กนอ. ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบดิจิตอลและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ โครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ รวมถึงสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (นิว เอส-เคิร์ฟ) ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ทั้งนี้ คาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะใช้งบประมาณ 2,800 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ และสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที และเร่งดำเนินงานให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในปี 2565 เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

“หากอีไอเอผ่านการพิจารณาเห็นชอบแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ ทั้งถนน ระบบสาธารณูปโภค ระบบน้ำ โทรคมนาคม ควบคู่กับการโรดโชว์ชักชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งเบื้องต้นมีเอกชนเริ่มให้ความสนใจเข้ามาลงทุนบ้างแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเอกชนที่ดำเนินธุรกิจนิว เอส-เคิร์ฟ” น.ส.สมจิณณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (สมาร์ท เอนเนอร์ยี่) ที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน และการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับบริการระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ทางการตลาด การจัดการผลิตภัณฑ์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ควบคู่กับการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ

น.ส.สมจิณณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าถึงการเปิดซื้อซองประมูลโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่าที่ผ่านมา กนอ.มีการเปิดขายซองไปแล้ว และมีเอกชนกว่า 18 รายเข้ามาซื้อซองในการประมูล โดยในวันที่ 6 ก.พ นี้ จะมีการปิดรับซองการประมูลเพื่อนำมาพิจารณาข้อเสนอและคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับสัมปทาน ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าใครจะจับคู่กับใคร แต่ทุกกลุ่มที่ยื่นมาก็ต้องทำตามเกณฑ์ที่วางไว้ คือการก่อสร้างท่าเรือ การถมทะเล รวมถึงการสร้างคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ภายในระยะเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 ก.พ.นี้มีกำหนดการปิดรับซอง ซึ่งมีเอกชนบางรายยื่นขอยืดระยะเวลาปิดรับออกไปอีก แต่มองว่าที่ผ่านมาได้ขยายเวลายื่นซองมารอบหนึ่งแล้ว และเป็นเวลาที่มากพอสมควร เชื่อว่าการประมูลครั้งนี้จะมีคนมายื่นซองแข่งขันมากกว่า 1 ราย เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกและประกาศผู้ที่ชนะการประมูลออกไป โดยผู้ที่ชนะต้องพัฒนาโครงการตามแผนภายในระยะเวลาที่กำหนด 3 ปี 9 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน