‘สมคิด’กำชับลดต้นทุนเกษตรกร หนุนสู่ตลาดออนไลน์ หนุน SMEs เกษตร หรือ SMAEs ช่วยกันยกระดับเกษตรกร 30 ล้านคน ดึงสหกรณ์การเกษตร และSMAEs เป็นหัวหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง ขู่ข้าราชการเกียร์ว่าง ช่วงเตรียมเลือกตั้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในงาน“สานพลัง ปฏิรูปภาคเกษตรไทย” ในโอกาสครบรอบ 52 ปี ธ.ก.ส. โดยมีผู้แทนเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการเกษตรจากทั่วประเทศ มาร่วมงาน นายสมคิดย้ำว่า ภาคเกษตรยุคนี้ต้องปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง และผู้ประกอบการภาคเกษตร (SMAEs) ช่วยกันยกระดับเกษตรกร เพื่อโน้มน้าวชาวบ้านให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะภาคเกษตรมีชาวบ้านถึง 30 ล้านคน แต่กลับมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจ (GDP) เพียงร้อยละ 8 จึงต้องยกระดับเกษตรเพิ่มมูลค่าการผลิต การพัฒนาตลาดออนไลน์ ต้องทำอย่างจริงจัง นอกจากนี้ต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยเฉพาะปุ๋ย เป็นต้นทุนถึงร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิต จึงต้องหาทางลดภาระ และลดความเสี่ยง เพราะให้นโยบายเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ปี ยังเงียบอยู่ไม่คืบหน้า

“การส่งเสริมเกษตรกรไปสู่ตลาดออนไลน์ จึงต้องอำนวยความสะดวกทั้งการขนส่งสินค้าผ่านการพัฒนาด้านคมนาคม ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะส่วนกลาง เพื่อให้ส้นทางเข้าถึงชุมชน ทั้งสร้างถนน รถไฟทางคู่ ติดตั้งอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ส่งเสริมการศึกษาในชุมชน ความเจิรญในชนบทจะสูงขึ้น จึงมอบหมายให้บีโอไอส่งเสริมโรงงานรับซื้อผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ภาระกิจดูแลเกษตรกรของหลายหน่วยงาน จึงต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลทุกด้าน เนื่องจากไทยมีศักยภาพ แต่เกษตรกรกลับยากจน ยอมรับแม้แจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการ แต่ได้นำมาฝึกอบรมพัฒนาอาชีพให้มีรายได้สูงขึ้น เพราะได้ช่วยเหลือควบคู่ไปพร้อมกับการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง ” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีเริ่มก้าวเข้ามา ตลาดออนไลน์จึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน และปลูกพืชหลากหลายไม่ใช่เชิงเดี่ยว ข้าราชการทุกหน่วยงานที่ดูแลเกษตรกร ห้ามเกียร์ว่างในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง เพราะปัญหาเกษตรกรต้องดูแลทุกด้านทุกเวลา ทุกคนต้องมีไฟอยู่ในใจในการช่วยเหลือเกษตกร ทั้งปรับปรุงหนี้ ปรับปรุงการผลิต ดูแลการตลาดแบบครบวงจร แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันอยู่ที่ใจในการช่วยเหลือ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เดี๋ยวนี้เดินทางไปไหน พบแต่เกษตรกรปลูกทุเรียน จึงเริ่มมีความเป็นห่วง และอยากให้ปลูกพืชผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยง ต้องปลูกและดูแลอย่างมีคุณภาพ โดยใช้การตลาดเป็นตัวนำ ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงต้องการแนะนำเกษตรกรหาความรู้ ทั้งประกันความเสี่ยงจากการทำประกัน โดยรัฐบาลส่งเสริม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพปลูกพืชได้แทบทุกพื้นที่ ตลาดออนไลน์ เป็นโอกาสใหม่ให้กับชาวบ้าน ขายให้กับตลาดโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หากเป็นสวนที่มีคุณภาพหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพราะผลิตด้วยคุณภาพ กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องการชุมชนปรับตัวไปสู่ตลาดยุคใหม่ แปรรูปสินค้าเกษตรรองรับความต้องการของตลาด

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งการพัฒนาภาคการเกษตรใน 3 ด้าน คือ ปรับ การเกษตรแบบดั้งเดิมมาใช้เทคโนโลยีและวัตกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุน เช่น การผสมปุ๋ยใช้เอง การเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี Agri-Tech เช่น การปลูกมันสำปะหลังระบบน้ำหยด การใช้เครื่องจักรในการทำไร่อ้อย ใช้โดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแรงงานในภาคการเกษตร เปลี่ยน การผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยปลูกพืชตามแผนที่เกษตรหรือ Agri Map ในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” เช่น การแปรรูป การทำเกษตรปลอดภัยและอินทรีย์ ชึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและช่วยลดปัญหาสินค้าล้นตลาด พร้อมเชื่อมโยงการตลาดหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ผลิต

สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลายช่องทาง เช่น จัดให้มี Branch Outlet การจัดตลาดของดีวิถีชุมชน ตลาดซื้อขายระบบ Online ผ่าน E-Commerce Platform ตลอดจนสร้างระบบเชื่อมโยงการให้บริการซื้อ-ขายสินค้าการเกษตร ปัจจัยการผลิต การจองที่พักแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น พัฒนา สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุนให้มีการผลิตการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร เช่น ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปข้าวของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สุรินทร์ ผู้ประกอบการ SMAEs คิชฌกูฏออร์แกนิคฟาร์มที่ส่งเสริมรวบรวมและรับซื้อผักจากเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีตลาดที่แน่นอนและมีรายได้มั่นคง

มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการSMAEs จำนวนกว่า 9,000 ราย เป็นหัวขบวนช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วกว่า 300,000 รายในปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปีบัญชี 2562 นี้ การนำ Model ความสำเร็จของเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการSMAEs ที่จะเป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง มาเป็นผู้จุดประกายให้กับผู้ร่วมงานในครั้งนี้ รวมทั้ง ขยายผลการให้ความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรรายย่อยให้สามารถยกระดับรายได้ของตนผ่านกลไกสหกรณ์และผู้ประกอบการSMAEs อย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือ การบริหารจัดการด้านการตลาด สำหรับเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ เช่น A-Farm Mart ซึ่งเป็น E-Commerce PlatForm ที่ ธ.ก.ส.ร่วมกับ บริษัทไทยธุรกิจเกษตรพัฒนาขึ้น โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการSMAEs ลงทะเบียนสินค้า เพื่อจำหน่ายแบบ Online บน PlatForm ตลาดออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน