นักบิดหัวทิ่ม! จยย.จ่อขึ้นราคา 15% หลังยกระดับมาตรฐานยูโร 4 ให้เวลาปรับตัว 7 เดือน

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม รักษาการแทนรมว.อุตสาหกรรม ได้ลงนามประกาศพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รถจักรยานยนต์เฉพาะความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับ 7 มาตรฐานเลขที่มอก.2915-2561

ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานไอเสียขึ้นสู่ยูโร 4 จากที่ผ่านมาเป็นมาตรฐานไอเสียยูโร 3 ช่วยลดการปล่อยปริมาณสารมลพิษประมาณ 50% แต่จะมีผลกระทบด้านราคา เบื้องต้นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ระบุว่ามีแนวโน้มต้องปรับขึ้นประมาณ 10-15 % คาดว่าจะประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการ และให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวรวมระยะเวลาประมาณ 7 เดือน

สำหรับผลการลดมลพิษจากการประกาศบังคับใช้รถจักรยานยนต์ ยูโร 4 จะคลอบคลุมทั้งรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ เบนซิน ไฮบริด และเครื่องยนต์ดีเซล จากเดิมใช้เฉพาะเครื่องยนต์เบนซินเท่านั้น, ปริมาณสารมลพิษ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ ค่าสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม (มล.) ต่อกิโลเมตร (กม.) จากเดิม 2,000 มล.ต่อกม., ค่าไฮโดรคาร์บอน เครื่องยนต์เบนซิน 170-380 มล.ต่อกม. เครื่องยนต์ดีเซล 100 มล.ต่อกม.

จากเดิม 300-800 มล.ต่อกม.,ปริมาณออกไซด์ของไนโตรเจน เครื่องยนต์เบนซินเหลือประมาณ 70-90 มล.ต่อกม. จากเดิม 150 มล.ต่อกม. เครื่องยนต์ดีเซล 300 มล.ต่อกม., สารมลพิษอนุภาค หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล ไม่เกิน 80 มล.ต่อกม. จากเดิมไม่กำหนด, การทดสอบรั่วซึมจากห้องข้อเหวี่ยง จากเดิมไม่มีการทดสอบ ส่วนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สามารใช้น้ำมันที่อยู่ในท้องตลาดปัจจุบันได้เลย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รักษาการรองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่ภาครัฐยกระดับมาตรฐานมอเตอร์ไซด์ขึ้นสู่ระดับมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะลง ส่วนราคาจะปรับขึ้นประมาณเท่าไรนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต้องดูประกาศก่อนว่า การยกระดับต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ทางค่ายรถต่างๆ จะพิจารณาอีกครั้ง

รายงานข่าวจากผู้ผลิตรถยนต์ กล่าวว่า วันที่ 8 ก.พ. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้เชิญผู้ผลิตรถยนต์ที่มีโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยทุกรายร่วมหารือถึงนโยบายเรื่องการผลิตรถยนต์ให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 จากปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานยูโร 4 เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งลดมลพิษ ซึ่งการหารือครั้งนี้ จะมีสมอ. เข้าหารือด้วย ซึ่งทางผู้ผลิตรถยนต์ จะขอรับฟังนโยบายจากภาครัฐอีกครั้ง ก่อนที่จะไปวางแผนการดำเนินการต่อไป ยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวต้องใช้เวลาเตรียมการ และมีต้นทุนในการดำเนินการเพิ่มขึ้น

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ข้อมูลการตรวจสอบมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ณ วันที่ 6 ก.พ. ตรวจโรงงานแล้ว 2,095 แห่ง ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน พบการกระทำผิดในส่วนอื่นๆ จำนวน 45 โรง ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุงตามมาตรา 37 จำนวน 35 โรง และสั่งให้หยุดประกอบกิจการ 3 โรง อื่นๆ จำนวน 7 โรง

ส่วนผลตรวจสอบการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันโรงงานกลุ่มนี้มี 600 แห่ง ซึ่งตรวจวัดฝุ่นละอองโรงงานกลุ่มนี้ มีค่าการระบายฝุ่น 2 -50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด และได้ประสานขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ

เช่น กลุ่มปตท. และ กทม. สร้างเครื่องต้นแบบระบบขจัดมลพิษทางอากาศแบบเคลื่อนที่ ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นขนาดเล็ก ลดไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ บนท้องถนนพื้นผิวการจราจรที่หนาแน่นให้มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น เพิ่มอีก 10 เครื่อง ภายในเดือนก.พ. และจะนำไปติดตั้งช่วยขจัดมลพิษทางอากาศให้บริการประชาชนในพื้นที่สวนสาธารณะต่างๆ ของกรุงเทพฯ และจุดที่กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบแล้วพบว่ามีระดับอากาศที่มีมลภาวะสูงกว่ามาตรฐานต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน