จับตา‘สนช.’ตั้ง‘สภาดิจิทัล’กระทบ‘โทรคมนาคม’ไทย

รายงานพิเศษ

จับตา‘สนช.’ตั้ง‘สภาดิจิตัล’ – กําลังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก กับ ‘ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2561 ก่อนนำเสนอสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบในวาระแรกไปแล้ว

พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ 17 คนขึ้นพิจารณาในวาระที่ 2-3 โดยมีเป้าหมายจะออกร่างกฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้

จนเกิดคำถามว่า “ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญมากจนต้องเร่งดำเนินการภายในรัฐบาลชุดปัจจุบันเลยหรือ”

ที่มาของร่างกฎหมายดิจิทัลฉบับนี้ที่ถูกยกร่างขึ้นมาโดย “สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย” (TFIT) จัดพิธีลงนามในปฏิญญาจัดตั้งสภาดิจิทัล เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2561 ก่อนเสนอเข้า ครม.ให้ความเห็นชอบปลายปี 2561 จากนั้นส่งต่อไปยังสนช.

เนื้อหาระบุว่าเพื่อให้เป็นองค์กรประสานการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมไอทีที่เกี่ยวข้อง ที่จะเข้ามาพลิกโฉมหน้าประเทศไทย พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยและอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ กรุยทางให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทำให้สภาดิจิทัลฯ มีบทบาททัดเทียมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามเมื่อดูรายชื่อของกรรมาธิการที่ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการ ที่มาจากสมาชิกสมาพันธ์นั้น ถูกมองว่าจำนวนหนึ่งสนิทสนมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ขณะที่เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายให้จัดตั้งคณะกรรมการสภาดิจิทัลจำนวน 21 คน แต่ไม่เกิน 33 คน เพื่อเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนที่ร่วมมือกับ ภาครัฐ-ภาคเอกชนอื่นๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิจิทัลทุกประเภท

แต่เมื่อดูถึงการกำหนดสัดส่วนตัวแทนที่จะเข้าไปนั่งในสภาดิจิทัลนั้น พบว่ากำหนดกลุ่มประเภทธุรกิจกันขึ้นมา 7 กลุ่มย่อย โดยใช้วิธีนำสมาชิกทั้ง 22 สมาคมมาจัดประเภทให้ลงตัว ประกอบด้วย

1.อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) 2.ฮาร์ดแวร์ ชิ้นส่วนดิจิทัล 3.ซอฟต์แวร์ 4.บริการดิจิทัล 5.โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 6.ดิจิทัลคอนเทนต์ และ 7.อื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของส.อ.ท. ที่ควรจะถูกดึงเข้ามาเป็นอีกกลไกสำคัญ กลับไม่ได้เข้าร่วม

นอกจากนี้บทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดว่า

“เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ยกฐานะของคณะกรรมการสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนเป็นคณะกรรมการคณะแรกของสภาดิจิทัลโดยอัตโนมัติ พร้อมให้ยกเลิกสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้ของสมาคม ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกสมาคมสมาพันธ์ทั้งมวลไปเป็นของสภาดิจิทัลแทน”

ทำให้กรรมาธิการจากหน่วยงานอื่นๆ ทักท้วงและเสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลทิ้ง เพราะเกรงว่าสภาดิจิทัลที่ผ่านจาก สนช.จะกลายเป็นการเอื้อเอกชนบางกลุ่ม

จากนี้จึงต้องจับตา สนช.ชุดนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับ ‘พ.ร.บ.สภาดิจิทัล’ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทั้ง ‘ทีโอที’ และ ‘กสท.โทรคมนาคม’ ที่มีเสาโทรคมนาคม ซึ่งได้รับโอนมาจากสัมปทานเต็มมือ

อ่านเศรฐกิจเรื่องอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน