นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย เปิดเผยถึงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … ว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนการบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งควรประกาศใช้เฉพาะซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่การเหมารวมซากที่เกิดก่อนกฎหมายบังคับใช้

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้มีซากผลิตภัณฑ์เบื้องต้นมากกว่า 400,000 ตัน ซึ่งซากจำนวนมาก ไม่สามารถหาเจ้าของผู้ผลิตเดิมได้ เพราะเลิกผลิต และย้ายฐานการผลิตไปแล้ว ส่วนนี้ใครจะรับผิดชอบ ทางแก้ก่อนประกาศใช้พ.ร.บ.ฯ ภาครัฐควรรณรงค์หามาตรการจูงใจ ให้ประชาชนนำซากอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ใช้แล้วมาคืนที่ศูนย์กำจัดซากฯ ก่อน

ทั้งนี้ หากรัฐยืนยันร่างพ.ร.บ.ฯ ปัจจุบันเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัตติแห่งชาติ (สนช.) จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทยอย่างรุนแรงแน่นอน อาจมีการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ค่อนข้างสูง รวมทั้งการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากยังมีหลายประเด็นไม่ชัดเจน เช่น ขอบข่ายผู้มีส่วนร่วม, การบังคับใช้, บทลงโทษทางอาญาผู้บริหาร มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ส่งผลต่อความกังวลในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้บริหารชาวต่างชาติ จึงต้องการให้ทบทวนบทลงโทษในส่วนของอาญา

“ภาคเอกชนเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. … แต่เห็นว่าร่างดังกล่าวยังควรต้องมีการปรับปรุงให้สามารถปฏิบัติได้และสอดรับกับข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้นักลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติมีความกังวลมาก หากร่างดังกล่าวผ่านไปสู่การบังคับใช้ อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่มีข้อบังคับที่มีความเสี่ยงต่อโทษอาญา และจะกระทบต่อการจ้างงานต่อเนื่องกว่า 750,000 คน รวมทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาทจะได้รับผลกระทบ หากรัฐไม่ทบทวนร่างพ.ร.บ.กำจัดซากฯ เพื่อให้ปฏิบัติได้และสร้างความเป็นธรรมกับผู้ผลิตโดยเฉพาะที่ต่างชาติกังวลอย่างมาก”

นอกจากนี้ ระยะเวลาการบังคับใช้ไม่ควรน้อยกว่า 2 ปี จากร่างพ.ร.บ.ฯ ระบุบังคับใช้ภายใน 365 วัน ซึ่งยังน้อยเกินไปในการเตรียมการ รวมทั้งขอให้ขยายเวลาการพิจารณาครั้งที่ 1 ออกไปอีก 45 วัน จากเดิมจะมีการพิจารณาในวันที่ 22 ก.พ. นี้ เพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหาในร่างพ.ร.บ. ให้มีกลไกการจัดการซากฯ ที่เหมาะสมเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทุกภาคส่วน และสามารถปฏิบัติได้จริง รวมทั้งป้องกันผลกระทบต่อภาครวมเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันการกำหนดซาก 5 ประเภท คือ คอมพิวเตอร์, เครื่องโทรศัพท์, โทรศัพท์ไร้สาย, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องรับโทรทัศน์, ตู้เย็น ซึ่งไม่มีการลงรายละเอียดถึงผลิตภัณฑ์ว่า ส่วนไหนบ้าง เช่น เครื่องปรับอากาศมีหลายประเภททั้งในรถยนต์ บ้าน รัฐควรระบุพิกัดสินค้าให้ชัดเจนไปเลย ขณะเดียวกันขอบข่ายผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เน้นแต่ผู้ผลิตเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐควรสร้างกลไกศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ให้เป็นผลจริงในทางปฏิบัติโดยรัฐควรมีส่วนร่วมเพราะศูนย์รับคืนซากฯจะเป็นกลไกสำคัญในการขนส่งซากมายังโรงงานกำจัด พร้อมกันนี้หากมีการเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมาย เสนอให้บังคับใช้กับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและสำนักงาน โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์หรือความคุ้มทุนในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ควบคุม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน