สนค.เผยบาทแข็งพ่นพิษกระทบ ยอดส่งออกไทยในม.ค. ติดลบ 5.7% คู่ค้าเมินหันซื้อสินค้าจากที่อื่นแทนไทย ยอมรับปีนี้ดันเป้าหืดขึ้นคอปัจจัยลบอื้อ แต่ยังคงเป้า 8%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า การส่งออกไทยในเดือน ม.ค.2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.7% โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้การค้าชะงักทั่วโลก

ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้น หลายชาติชะลอการนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงประเทศคู่ค้าหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่าแทน

น.ส.พิมพ์ขนก กล่าวอีกว่า แม้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตลาดญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ยังคงขยายตัวแต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การส่งออกในตลาดอื่นๆ หดตัว หากพิจารณารายสินค้า การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ 2.9% ผลจากการหดตัวของยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย

ขณะที่ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังขยายตัวสูง การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม หดตัวที่ 5.9 %จากสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

“จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าที่สำคัญของไทย ก็มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าเกษตรไทยลดลง ทั้งข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง จีนหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง และยังมีนโยบายผลิตเอง เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศจีนเอง ซึ่งสนค.มองว่า ไทยจำเป็นต้องจำกัดการผลิตสินค้าเกษตรที่พึ่งพาจีนเป็นหลักอย่างจริงจัง โดยเฉพาะยางพารา หลังความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ขณะที่การนำเข้าในช่วงเดือนม.ค. ที่ผ่านมา มีมูลค่า 23,026 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม หากต้องการผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย 8 %ไทยจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยมูลค่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน สำหรับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน หลายฝ่ายมองว่ายังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก ผู้ส่งออกจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยน และเร่งนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนของสินค้าเกษตรควรต้องกำหนดราคาขายระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยงลง

ขณะที่แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. การชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ 2. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปทานและสต๊อกล้นตลาดกดดันรายได้การส่งออกของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทย
3.แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท กดดันรายได้ของผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ จะยังทำให้ไทยรักษาความสามารถทางแข่งขันไว้ได้
4.ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังคงกดดันบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก โดยประกาศทางการของทั้งสองฝ่ายระบุว่าการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการบรรลุหลักการในประเด็นสำคัญ โดยจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าการเจรจาอีกครั้ง ในวันที่ 21-22 ก.พ. 2562 ที่ กรุงวอชิงตัน ดีซี

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่าทั้งสองประเทศจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างกันภายหลังการเจรจา และมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ อาจยืดเวลาการขึ้นภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1มี.ค. 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน