ทอท.ถอย เลื่อนขายซองประมูลดิวตี้ ฟรี 4 สนามบินและพื้นที่เชิงพาณิชย์ พร้อมเปิดรับฟังความเห็น ข้อหักล้างเรื่องผูกขาด คาด 2 สัปดาห์เคลียร์จบ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. ได้เลื่อนการจำหน่ายเอกสารการเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการ 2 โครงการของ ทอท. ออกไปก่อน 1.โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี)ที่ สนามสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ 2.โครงการประกอบกิจการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ออกไปก่อน
ทั้งนี้เพื่อเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่า สัญญาดิวตี้ฟรีที่รวม 4 สนามบินเป็นการผูกขาด

“เดิม ทอท. กำหนดจะขายซองเอกสารวันที่ 19 มี.ค.นี้ แต่เมื่อมีข้อสังเกตุ เราจะยังไม่ขายซองประมูล จะรอฟังข้อเสนอก่อน เราจะรับฟังจนกว่าสังคมจะสิ้นข้อสงสัย หากยังไม่มีเหตุผลหักล้างเหตุผลของ ทอท.ได้ ทอท. จะพิจารณาเปิดขายซองต่อไป มั่นใจว่า 1-2 สัปดาห์จะเคลียร์ข้อสงสัยได้ทั้งหมด และเปิดขายซองประมูลต่อไปได้”
นายนิตินัยกล่าวว่า คาดว่าจะได้ตัวได้ผู้ชนะ การประมูลในเดือนกันยายน 2562 ล่าช้าจากเป้าหมายเดิม ที่กำหนดไว้ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. 62

นายนิตินัย กล่าวว่า ในการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้งสองโครงการ ทอท.ได้มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านอย่างรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นจากหลายองค์กรมาประมวลผล โดยการเปิดเสรีเคาน์เตอร์ ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) เป็นการยุติการผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากร
โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้จากการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานภูเก็ตทำให้ มีผู้ยื่นความจำนงประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองนับสิบราย ซึ่ง ทอท. คาดว่าหลังจากมีการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่สำคัญของประเทศไทย

ส่วนรูปแบบของการให้สิทธิประกอบกิจการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่เหมาะสมที่สุดและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในระยะยาว คือ การให้สิทธิสัมปทานเพียงรายเดียว (Master concessionaire) การแยกประมูลตามหมวดสินค้า (Category consessions) จะไม่ส่งผลดีต่อองค์กรและประเทศชาติโดยรวม
ในส่วนของกิจการร้านค้าปลอดอากรไม่เหมือนการค้าปลีกโดยเฉพาะเรื่องสถานที่ ห้างสรรพสินค้ามีประตูอยู่ที่เดิมตลอดไป แต่ท่าอากาศยานมี contact gate ที่เปรียบเสมือนประตู และแต่ละ contact gate สามารถรองรับเครื่องบินได้ในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

ดังนั้น การไหลเวียนของผู้โดยสาร (Passenger flow) ในท่าอากาศยาน จึงแตกต่างจากห้างสรรพสินค้า โดยขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องบินที่สายการบินนำมาให้บริการ ดังนั้น จึงมีความสุ่มเสี่ยง ที่หากมีการแยกสัญญาแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหา เมื่อปริมาณและการไหลเวียนของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนประเด็นการให้สิทธิประกอบกิจการทั้ง 4 ท่าอากาศยาน รวมอยู่ในสัญญาเดียว นั้นเพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะปัจจุบัน 2 ใน 4 สนามบินมีปัญหาขาดทุนจากยอดที่ต่ำมาก หากประมูลแยกสัญญาจะเกิดผลกระทบ ต่อผลการดำเนินงานภาพรวมของ ทอท.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน