บอร์ดสกพอ. เร่ง 5 โครงการหลักอีอีซี ให้คัดเลือกเอกชนที่รับสัมปทาน ภายในเดือน เม.ย.นี้ และเสนออนุมัติต่อครม.โดยเร็ว ก่อนจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จ สร้างความเชื่อมมั่นให้เอกชนว่า รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็รื้อทบทวนไม่ได้ เพราะหากมีการทบทวนภายหลัง เอกชนที่ชนะการประมูล มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องได้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แถลงผลงาน 2 ปี ในการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า แนวทางการดำเนินงานของพื้นที่อีอีซีในปีนี้ ภายในเดือน เม.ย.2562 นี้ จะต้องได้เอกชนผู้รับสัมปทานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุด เฟส3 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส3 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา
เนื่องจาก การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ แต่หากรัฐบาลใหม่ทบทวน ก็เชื่อว่าเอกชนจะไม่ยอมรับ และอาจมีการฟ้องร้อง

“เราตั้งเป้า จะให้ได้เอกชนที่รับสัมปทานในเดือน เม.ย.นี้ และจะเสนอต่อครม. ให้พิจารณาทันที ซึ่งหากมีการอนุมัติจาก ครม.แล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก ถึงแม้จะยังไม่มีการเซ็นสัญญา ดำเนินโครงการก็ตาม เนื่องจาก เนื่องจากถือว่า เป็นการยืนยันกับเอกชนไปแล้วว่า ชนะการประมูล เพราะการเสนอต่อครม. ต้องส่งสัญญาลงทุนไปด้วย ทั้งนี้ หากมีการทบทวนหลังจากนั้น เอกชนที่ชนะการประมูล มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องได้”นายคณิศ กล่าว

ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นชุดใดก็ตาม และเห็นประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค ก็จะเห็นว่า อีอีซีเป็นประเทศโยชน์ของประเทศที่จะสามารถพัฒนาไปได้ในหลาย ๆ ด้าน ขณะที่ในแง่ของกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการต่อได้เลย และไม่ว่า จะนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใคร ก็จะต้องมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการ กพอ. อยู่แล้ว ขณะที่นักลงทุนเอง โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ ส่วนนักลงทุนฝั่งยุโรปมีความเข้าใจและไม่คัดค้าน ด้านนักลงทุนจีนเอง อาจจะต้องรอโครงสร้างพื้นฐานให้เรียบร้อยก่อน และเชื่อว่า จะมีการลงทุนเข้ามาเยอะมากขึ้น เพราะเห็นความมั่นใจของประเทศ

นายคณิศ กล่าวว่า ปี 2562 อีอีซีจะเร่งรัดการลงทุนจริงในพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็นการจากโครงสร้างพื้นฐาน 100,000 ล้านบาท การลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย 100,000 ล้านบาท และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อีอีซี 100,000 ล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวประเมินจากยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2561 ที่มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมากกว่า 600,000 ล้านบาท และปกติเอกชนจะใช้เวลาตัดสินใจก่อนลงทุนจริงประมาณ 1 ปี

นอกจากนี้จะเดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน การศึกษา งานวิจัยและเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม (อากาศ น้ำ ของเสีย) ปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พลังงาน โดยผังเมืองอีอีซีจะประกาศใช้วันที่ 9 สิงหาคม 2562 และจะจัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเขตเทคโนโลยี และเมืองอัจฉริยะ ทั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ที่เปิดยื่นประมูลวันที่ 24 เมษายนนี้ และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซีไอ)ที่เริ่มก่อสร้างแล้ว รวมทั้งภารกิจสำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจชุมชนในการผลักดันอีอีซี

นายคณิศกล่าวว่า ภารกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2560-2561) ที่อีอีซีได้ดำเนินการและวางรากฐาน คือ กำกับดูแลให้มี พ.ร.บ.อีอีซี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าโครงการนี้มีกฎหมายรองรับ ต้องดำเนินการต่อไป และผลจากโครงการยังทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2559 เป็นประมาณ 4.2% ในปี 2561 และทำให้การลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวก 3 ปีติดต่อกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน