นักวิชาการชี้ประชาชนต้องการรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ หวังแกนนำรัฐบาลจับมือกำหนดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หวังไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์หลังการเลือกตั้งว่า คะแนนที่สูสีกันระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรค ซึ่งมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สะท้อนความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ

โดยหากประเมินจากผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการล่าสุด จะเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสสูงที่จะรวบรวมเสียงสนับสนุนได้เกิน 250 เสียง เมื่อรวมกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 เสียง ก็จะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ออกมาได้เร็ว โดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

เพราะจะเห็นว่า พื้นฐานนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้นั้นไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี การเพิ่มรายได้ การเพิ่มสวัสดิการสังคม หรือลดต้นทุนในการดำรงชีวิตด้านต่างๆ ทำให้น่าจะหลอมรวมมาสู่การปฏิบัติจริงได้ไม่ยาก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็จะเห็นภาพของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง เช่น โครงการ EEC Thailand 4.0 การสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ S-curve และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นต้น

ส่วนการที่สังคมในโซเชียล มีเดีย ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า มีเพียงบางหน่วยเลือกตั้งที่ถูกตั้งข้อสังเกต ถึงความไม่โปร่งใส แต่ในภาพรวม ก็ไม่ได้มีปัญหาการโกงหรือทุจริตอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการสังเกตการณ์ขององค์กรนานาชาติ และสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่าผลการนับคะแนนที่ออกมานั้นเป็นไปตามขั้นตอนอย่างโปร่งใส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน