พาณิชย์แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยง ในตลาดอาร์เจนตินาและตุรกี หลีกเลี่ยงผลกระทบค่าเงินผันผวน คาดสองตลาดนี้อาจหดตัว เป็นเวลายาวนานถึง 12-24 เดือน จึงต้องเร่งหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์ ส่วนสินค้าเกษตร

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษา “การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า 87 ประเทศ และผลกระทบต่อการส่งออกของไทย” โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ความผันผวนของค่าเงิน และการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผ่าน, มายังอุปสงค์และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อันเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทย

ผลการศึกษาการศึกษา ระบุว่า ประเทศที่ค่าเงินผันผวนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ซูดาน 164.6% อาร์เจนตินา 28.1% และตุรกี 27.6 % และประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 3 อันดับแรก ได้แก่ ซูดาน 164.5 % อาร์เจนตินา 100.2% และตุรกี 40.9%
ในส่วนของประเทศไทยมีค่าเงินผันผวนอยู่ที่อันดับที่ 48 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ที่ 4.6% สะท้อนถึงการมีเสถียรภาพในเกณฑ์ดี ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นอันดับที่ 71 ของโลก อันดับ 8 ของอาเซียน อ่อนค่าเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนภูมิภาคอาเซียน มีความผันผวนของค่าเงินในระดับต่ำ โดยค่าเงินอินโดนีเซียผันผวนมากที่สุด แต่เป็นการผันผวนในระดับต่ำ ที่ 5.6% สำหรับค่าเงินเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าโดยรวมยังอ่อนค่า เงินของเมียนมาอ่อนค่ามากที่สุด ที่ 14.2% ค่าเงินกัมพูชา และสิงคโปร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ค่าเงินเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561 ประเทศที่ค่าเงินแข็งค่า ประกอบด้วย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และไทย
ขณะที่ประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า ประกอบด้วย ลาว ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า 87 ประเทศ พบว่ามี 26 ประเทศ ที่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในจำนวนนี้มี 8 ประเทศ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ตุรกี ปากีสถาน บราซิล รัสเซีย เมียนมา ออสเตรเลีย และอินเดีย
โดย 2 ประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยมากที่สุด คือ อาร์เจนตินา 100% และตุรกี 41%

“กรณีตุรกีค่าเงินตุรกีเริ่มหดตัวอย่างรุนแรงในเดือนส.ค. ปี 2561 ที่ 85-90 % เมื่อรวมกับเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้ว ทำให้การส่งออกของไทยไปตุรกีหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือน (ข้อมูล เดือนม.ค.2562) และอาจติดลบต่อไปในไตรมาสแรกและสองของปี 2562 โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปตุรกี ประกอบด้วย รถยนต์และอุปกรณ์ มีมูลค่าประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าประมาณ 114 ล้านเหรียญสหรัฐ และยางพารามีมูลค่าประมาณ 86 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ขณะที่สินค้าเกษตรที่สำคัญนอกจากยางพาราแล้ว ประกอบด้วยข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง แต่มีมูลค่าค่อนข้างน้อยเพียง 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้นกรณีอาร์เจนตินา ค่าเงินอาร์เจนตินาเริ่มหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงปลายเดือนส.ค. ปี 2561 ที่ 100-110% โดยการส่งออกของไทยไปอาร์เจนตินาเริ่มหดตั้งแต่เดือนก.ย.2561 และหดตัวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน และมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอาร์เจนตินา ประกอบด้วย รถยนต์และอุปกรณ์มีมูลค่า 328 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องยนต์สันดาปมีมูลค่า 325 ล้านเหรียญสหรัฐ และผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่า 63.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 31.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผู้อำนวยการ.สนค. กล่าวว่า ในกรณีของอาร์เจนตินาและตุรกี ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 1.0% ของการส่งออกรวมของไทย การส่งออกไปยังสองตลาดนี้อาจหดตัวเป็นเวลายาวนานถึง 12-24 เดือน จึงต้องเร่งหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์ ส่วนสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา และอาหารทะเลกระป๋อง ก็ได้รับผลกระทบแต่มูลค่าไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ หน่วยงาน เช่น ธปท. EXIM Bank ธนาคารพาณิชย์ต่างก็มีมาตรการสนับสนุนการลดความเสี่ยงอยู่ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกจึงควรศึกษาหาแนวทางรองรับ และใช้ประโยชน์มาตรการเหล่านี้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน