‘บีโอไอ’ ชูงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยิ่งใหญ่ งานซับคอนไทยแลนด์ 8-11 พ.ค. คาดจับคู่ธุรกิจ 8,000 คู่ คาดเงินสะพัดกว่า 14,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน

นางสาวบงกช อนุโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานซับคอนไทยแลนด์ (SUBCON THAILAND 2019) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 จัดคู่ขนานไปกับงานอินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ (INTERMACH-MTA 2019) ครั้งที่ 36 เพื่อสนับสนุนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 พ.ค.2562 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา คาดจะมีคนเข้าร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 45,000 ราย

โดยงานซับคอนไทยแลนด์ปีนี้ ตั้งเป้าจับคู่ธุรกิจกว่า 8,000 คู่ และคาดว่าจะเกิดธุรกรรมทางธุรกิจมูลค่า ไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาท จากงานซับคอนไทยแลนด์ปีที่ผ่านมาจับคู่ธุรกิจได้ถึง 7,211 คู่ ก่อให้เกิดธุรกรรมกว่า 12,706 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดผู้ซื้อจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเข้าร่วมเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินชั้นนำกว่า 40 ราย ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติจากผลของการเชิญชวนนักลงทุนของบีโอไอทั้งในและต่างประเทศทั้ง 14 แห่ง

“ปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ซื้อจากกว่า 400 บริษัท 30 ประเทศเข้าร่วมงาน ทั้งยังมีการจัดแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ 15 ราย ทั้งจาก?สหรัฐ เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ออสเตรีย สวีเดน เกาหลี เนเธอร์แลนด์ จีน อินเดีย” นางสาวบงกช กล่าว

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยและบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่จากทั้งในและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นงานจับคู่ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สนับสนุนให้เกิดการต่อยอดธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทยที่มีอัตราการเติบโตทุกปีและมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (นิว เอส-เคิร์ฟ) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริหาร บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวว่างานอินเตอร์แมค-เอ็มทีเอ 2019 เป็นงานแสดงนวัตกรรมเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต รวบรวมเทคโนโลยีจาก 1,200 แบรนด์ 45 ประเทศ และมีประเทศผู้ผลิตนำผลงานมาจัดแสดงในรูปแบบพาวิลเลียน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน และจีน

ขณะเดียวกัน ภายในงานจะมีการสาธิตระบบการผลิตอัจฉริยะและเทคโนโลยีการผลิตจากแบรนด์ชั้นนำ โดย บริษัท โรบอท ซีสเท็ม จำกัด (ROBOTSYSTEM) ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยหรือเจ้าของฉายา ไอรอนแมน เมืองไทย สาธิตการวางระบบงานขัดอุปกรณ์เครื่องบินจากอุตสาหกรรมอากาศยาน ไลน์การชงกาแฟจากโรบอทอาร์ม ซอฟแวร์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแพทย์และยานยนต์อนาคต

บริษัทเจอแรงการ์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ออกแบบระบบซอฟท์แวร์จากบริษัทข้ามชาติ นำระบบทดลองใช้งานโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับเครื่องควบคุมโดยอัตโนมัติ สร้างภาพการผลิตที่สามารถตรวจสอบการทำงานได้จริงแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงโซลูชั่นที่สมบูรณ์แบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภทตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดย่อยไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วย

นอกจากนี้ สมาคมเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย จะมีการนำเสนอการทำงานในไลน์การผลิตของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องแพทย์และสุขภาพที่นำเสนอนวัตกรรมด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ สอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (เมดิเคิล ฮับ) ทำให้เกิดเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต การบินและอากาศยาน ระบบราง และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน