คลังส่งไม้รัฐบาลใหม่ขุดนโยบายอุ้มเศรษฐกิจโต 3.8% – ด้านแบงก์ชาติ จ่อหั่นเป้าจีดีพี หลังสงครามการค้าป่วนหนักกว่าที่คาด จับตาสินค้าส่งไปจีนกระทบหนัก-ค่าเงินบาทยังผันผวนสูง ส่วนกรณีที่สหรัฐเตรียมขึ้นบัญชีไทยแทรกแซงค่าเงิน ย้ำไม่มีผลกระทบแน่

คลังส่งไม้รัฐบาลใหม่อุ้มจีดีพีโต3.8% – นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2562 ยังขยายตัวได้ 3.8% ในช่วงคาดการณ์ 3-4% แต่รัฐบาลใหม่ต้องมาทำ มีการบริหารจัดการที่ดี และมีการออกมาตรการมาดูแล เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เศรษฐกิจเติบโตไปตามยถากรรม และยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีฐานะการคลังที่ดี นักลงทุนมองไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน จะเห็นได้จากค่าเงินบาท แข็งค่าเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค ดุลการค้ายังเกินดุล เงินสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำมาก

“ไทยมีความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจน้อย แต่ในแง่ของการเจริญเติบโตถ้าถูกกระทบมากๆ กระทบยาวๆต่อเนื่องโดยที่รัฐบาลไม่ทำอะไร ก็จะกระทบกับความมั่นคงของประเทศ การกระจายรายได้ก็จะต่ำไปด้วย ที่คลังต้องทำคือเร่งลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราบริหารจัดการดีๆ เศรษฐกิจปีนี้ยังจะโตได้ 3-4%”นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงไตรมาส 1/2562 ถึงไตรมาส 2/2562 ก็เป็นผลมาจาก ในช่วงไตรมาส 1 รัฐบาลไม่ได้มีการทำอะไรเลย ไม่ได้มีการออกนโยบายมาดูแลเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่า เป็นช่วงที่ ออก พ.ร.บ.เลือกตั้งมาแล้ว จึงไม่เหมาะสมที่จะทำนโยบายพิเศษ แต่เมื่อเห็นว่าไม่ดี ก็จำเป็นต้องออกนโยบายกระตุ้นการบริโภคในประประเทศ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้คาดว่าการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 2 น่าจะดีกว่าไตรมาส 1 เพราะมีมาตรการเติมเข้าไปแล้ว

สำหรับกรณีที่สหรัฐเตรียมประกาศรายชื่อประเทศที่จะต้องเฝ้าระวังเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน ยังเชื่อว่าจะไม่มีรายชื่อประเทศไทย ซึ่งตามเกณฑ์เกินดุลการค้าสหรัฐ จะต้องอยู่ในระดับ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยยังอยู่ในระดับ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 แต่ถ้ามี ก็จะได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากไทยไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออะไรจากสหรัฐ จึงไม่มีอะไรให้เรียกคืน และ การเจรจาข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหรัฐก็ไม่มี จึงไม่มีข้อตกลงอะไรให้ยกเลิกได้

นายอภิศักดิ์ กล่าว ภายหลังการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ก็จำเป็นต้องพึงพาเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐจึงมีบทบาทสำคัญ โดยในปีนี้มีกรอบลงทุนทั้งปีของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง มูลค่า 3.33 แสนล้านบาท โดยมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมปี 2562 (ต.ค.2561-เม.ย.2562) รวม 8.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 92% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าเป้าหมายรวม 5 แห่งคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) , บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท., องค์การเภสัช , บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน), และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ให้เร่งรัดการเบิกจ่าย ซึ่งมีหลายแห่งคาดว่าจะเบิกจ่ายเพิ่มได้อีก 3-4 พันล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ดีกว่าแผน ก็ขอให้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในรายการที่ไม่ได้อยู่ในแผนในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. เพิ่มขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่รุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดย ธปท. เตรียมทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใหม่ในเดือนมิ.ย.นี้ จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัวที่ 3.8% และการส่งออกจากปัจจุบันที่ 3%

สำหรับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน แต่ผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมก็ส่งผลกระทบในเชิงบวก เช่น ชิ้นส่วนที่ส่งไปสหรัฐ ก็จะเกิดความได้เปรียบจากมาตรการภาษี แต่ผลเชิงลบ ก็จะอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนที่ส่งออกไปจีน เพื่อผลิตและส่งออกต่อ ในลักษณะที่เป็นห่วงโซ่การผลิต ซึ่ง ธปท. จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต้องมีการปรับตัวในบางตลาด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศในภูมิภาค

นายวิรไท กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีปัจจัยจากภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะสงครามการค้า และทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่สร้างความไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ ดัชนีหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งยืนยันว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจจะต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนกรณีที่สหรัฐ เตรียมประกาศรายชื่อประเทศที่จะต้องเฝ้าระวังเรื่องการแทรกแซงค่าเงินเพิ่มขึ้นเป็น 20-25 ประเทศ จากปัจจุบันที่ 13 ประเทศนั้น แม้ว่าจะมีการประกาศชื่อประเทศไทยที่ต้องเฝ้าจับตาเป็นพิเศษรวมอยู่ด้วย ก็จะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อเศรษฐกิจ ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะที่ผ่านมาไทยมีการหารือกับสหรัฐ และยืนยันมาตลอดว่าไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการค้า เป็นเพียงการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้ากับสหรัฐ กับสหรัฐเท่านั้น ที่ผ่านมาไทยใช้นโยบายค่าเงินแบบลอยตัว และเงินบาทก็แข็งค่ากว่าหลายประเทศ ถ้ามีการแทรกแซงค่าเงินจะต้องอยู่ในทิศทางอ่อนค่ามากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน