บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’ – ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย และเผชิญกับผล กระทบจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจสหรัฐอเมริกากับจีน หากแต่วัฏจักรตลาดการค้าก็ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสโลกที่ทุกภาคส่วนต้องพัฒนาไปสู่หลักของความยั่งยืน

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลที่ได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลก จับมือกับบริษัทคาลิสต้า เปิดตัวเนื้อกุ้งจากฟาร์มที่เลี้ยงด้วย ‘ฟีดไคนด์ โปรตีน’ อาหารสัตว์โปรตีนทางเลือก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก ในงาน ซีฟู้ด เอ็กซ์โป โกลบอล และซีฟู้ด โปรเซสซิ่ง โกลบอล ที่บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

โอกาสนี้ นายฤทธิรงค์ บุญมีโชค ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ซึ่งพาทีมสื่อมวลชนไทยเดินทางไปชมงาน พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงความก้าวหน้าการพัฒนาอาหารกุ้งดังกล่าว

เลี้ยงกุ้งด้วยฟีดไคนด์ โปรตีน

แน่นอนว่ากุ้งซื้อที่ไหนก็ได้ แต่วันนี้หลายประเทศและลูกค้าอยากรู้ว่ากุ้งที่ซื้อมาโตด้วยอะไร ซื้อจากฟาร์มไหน สะท้อนว่าเขาต้องการเรื่องความยั่งยืนด้วย ไทยยูเนี่ยนจึงร่วมมือกับคาลิสต้าทำอาหารกุ้ง โดยไม่ใช้ปลาป่นที่นำลูกปลามาทำ แต่ใช้ปลาป่นที่เหลือจากอุตสาหกรรมปลาทูน่า

หมายความว่าปลาหนึ่งตัวที่เราจับมาทำอาหารคนแล้ว ยังได้ใช้ทุกส่วนของปลา ทั้งน้ำมันปลา กระดูกปลา หัวปลา ลูกตาปลา หนังปลา มาทำให้เกิดประโยชน์

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

โปรเจ็กต์นี้ได้รับการตอบสนองจากลูกค้าหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ายุโรปและประเทศอื่นๆ ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน เราในฐานะผู้ผลิต-ผู้ขายทั้งในและต่างประเทศ หน้าที่เราคือก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง หากคิดว่าแค่ซื้อกุ้งและซื้อปลามาผลิตแล้วขายอย่างเดียวยังไม่พอ ทำให้ไทยยูเนี่ยนเริ่มเข้ามาทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง

ต้นทุนแพงกว่ากุ้งปกติ

เราเป็นเจ้าแรกของโลกที่ทำฟีดไคนด์ฯ แน่นอนต้นทุนแพงขึ้นทุกไอเดียใหม่ๆ ในโลก บางทีคอนเซ็ปต์ดีแต่ต้องไปทั้งภาคการผลิต ผู้บริโภค วันหนึ่งถ้าตลาดต้องการ ภาคการผลิต ภาคเกษตรก็ไม่มีปัญหา ต้องใช้เวลาในการยอมรับ ซึ่งเชื่อว่าเทรนด์เริ่มมาแล้ว

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

ขณะนี้ทดลองเลี้ยงในฟาร์มของบริษัทที่ จ.สตูล อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารสูตรปกติเล็กน้อย คือโตช้ากว่าราว 10% แต่อัตราแลกเนื้อพอๆ กัน สมมติวัวหนัก 1 กิโลกรัม ต้องกินอาหาร 30 กิโลกรัม, ไก่อาจเป็น 3 ต่อ 1 ส่วนกุ้งที่กินอาหารฟีดไคนด์ฯ เฉลี่ย 1.2-1.4 กิโลกรัมแล้วแต่ขนาด ดังนั้นกุ้ง 1 ตัน กินอาหาร 1.2-1.4 ตัน ต่อไปต้องปรับปรุงให้เท่ากันหรือดีกว่าสูตรปกติ

ความแตกต่างจากกุ้งแบบเดิม

วันนี้ไม่มีความแตกต่างเรื่องรสชาติ แต่ต่างในเรื่องการใช้ทรัพยากรในการผลิตที่สำคัญสามารถตรวจสอบกลับ หรือเช็ก ดีเอ็นเอจากเนื้อกุ้งได้เลยว่ามาจากโครงการที่ใช้ไบโอเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือไม่

ส่วนต้นทุนเนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นผลิต การพัฒนา ต้นทุนอาหารกุ้งโปรตีนเมื่อเทียบกับแบบเดิมจึงสูงกว่าประมาณ 14% แต่ถ้ามีวอลุ่มที่มากขึ้นในอนาคตอาจทำให้ราคาถูกลง

เราไม่ได้มองเรื่องการตรวจสอบกลับการใช้ทรัพยากรอย่างเดียว แต่เรามองเรื่องโซเชี่ยล การใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี สังคมรอบข้างคนที่เกี่ยวข้อง เนื่องเพราะลูกค้าบางราย เรื่องคุณภาพสินค้าเป็นเรื่องจำเป็น จึงต้องตอบสนองลูกค้าตั้งแต่ขั้นการหาวัตถุดิบไปสู่กระบวนการผลิตจนส่งถึงมือลูกค้า ซึ่งเราทำตามมาตรฐานทุกขั้นตอน

มีแผนลงทุนในไทยหรือไม่

หลังจากลงทุนมาทั่วโลกคิดว่าลงทุนในไทยและเอเชียผลตอบแทนน่าจะดีกว่า การบริหารจัดการน่าจะง่ายกว่า แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการลงทุนในต่างประเทศ ถ้าเปรียบเทียบกับฟุตบอล เราเตะยูฟ่าคัพหรือบอลโลกมาแล้ว ไปลงทุนที่จีน อเมริกา ยุโรป เมื่อกลับมาเล่นไทยลีกผมว่าเราจะเล่นง่าย เพราะความแข็งแกร่ง ความพร้อมของบริษัท

ดังนั้น เราสนใจมากที่จะลงทุนในประเทศและเรายังเติบโตได้แม้กำลังซื้อภายในจะไม่มาก น่าจะพัฒนาได้โดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง ชิลล์ฟู้ด (Chilled Food) ที่ผ่านมาเริ่มลงทุนในบริษัทธรรมชาติ ซีฟู้ด ปีนี้จะซื้อหุ้นเพิ่มจาก 25% เป็น 65%

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

ที่เรามองตลาดในประเทศเพราะคนไทยต้องเลิกกินของที่ถูกรีเจ็กต์ปฏิเสธ (ห้ามนำเข้า) และมาดัมพ์ในประเทศ คนญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปกินเกรดไหนคนไทยต้องได้กินเกรดเท่ากัน ไม่ได้หวังแค่ยอดขาย แต่หวังจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับซีฟู้ดในประเทศไทย

และอนาคตไม่เพียงลงทุนธุรกิจกุ้ง หรือปลา วันนี้เราเริ่มมองเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ เรื่องอาหาร ที่จะมาซัพพอร์ตความสามารถในการแข่งขัน การทำกำไร

อุปสรรคการค้าขายตอนนี้

จีเอสพีเป็นเรื่องใหญ่ วันนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว หวังว่ารัฐบาลใหม่สนใจเรื่องการคุยเรื่องเอฟทีเออย่างจริงจัง ถ้าเราไม่ทำเวียดนามเขาก็คุยกับยุโรป อเมริกา ดังนั้นเอฟทีเอเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเรื่องภาคการเกษตรด้วย ถ้าไม่ทำอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ก็แข่งลำบาก

เมื่อก่อนไทยส่งกุ้งมาที่ยุโรปได้ 2-3 หมื่นตัน ถูกตัดจีเอสพีเมื่อปี 2557 ล่าสุดส่งออกเหลือ 6 พันตัน เมื่อผู้นำเข้าเสียภาษี 4% วันนี้ขึ้นเป็น 12% เราพยายามเพิ่มแวลูแอด สินค้าปรุงแต่ง แปรรูป เมื่อก่อนเสียภาษี 8% ตอนนี้ 20% ขณะที่เวียดนามยังอยู่ 7%

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

อีกทั้งเงินบาทเทียบกับคู่แข่งด้านส่งออกเหมือนๆ กัน เช่น อินโดฯ อินเดีย เวียดนาม ประเทศที่กำลังพัฒนา 2-3 ปีที่ผ่านมาเงินบาทโดยเฉลี่ยแข็งกว่าเขา 12-15% ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกอ่อนลงไป เข้าใจว่าทั้งรัฐบาล แบงก์ชาติคงบริหารจัดการอยู่

แต่ในแง่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เงินบาทในระดับ 31 บาทกว่า เป็นความลำบากของผู้ประกอบการเมืองไทย ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปสินค้าเกษตรก็จะกระทบตรงๆ

ปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

เป็นผลบวกกับเรามากกว่า ตอนนี้คนจีนเริ่มมองการย้านฐานการผลิต โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนาม และไทย เป็นโอกาสของไทยยูเนี่ยน สินค้าเมื่อก่อนจีนถูกกว่า แต่วันนี้ลูกค้าหลายๆ รายมาซื้อกับเรามาขึ้น เริ่มเห็นออร์เดอร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว เขาต้องกระจายความเสี่ยง

โดย…วไลพร กลิ่นโสม

แนะสูตรเลี้ยงกุ้งให้ได้กำไรสูงสุด

นอกจากเปิดใจเรื่องธุรกิจแล้ว นายฤทธิรงค์ บุญมีโชค ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ยังมีเคล็ดลับแนะนำเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งอย่างน่าสนใจด้วย

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

“เมื่อก่อนกุ้ง 1 ล้านตัวในบ่อ อัตรารอด 80% จึงมีกุ้งรอด 8 แสนตัว เลี้ยงจนโตขนาด 80 ตัว/กิโลกรัม ถึงวันนั้นในบ่อมีกุ้ง 8 แสนตัว ที่หนักรวม 10 ตัน หรือ 1 หมื่นกิโลกรัม อัดแน่นอยู่ในบ่อ การเลี้ยงกุ้งทุกตัวในบ่อขนาดเดิมจะทำให้กุ้งขยายไซซ์ลำบาก นอกจากอัดแน่นอยู่ในบ่อ ยังแย่งอาหารกันกิน ของเสียในบ่อก็มากขึ้น เมื่อเป็นโรคก็ต้องจับขายก่อนกำหนด ซึ่งอาจต้องขายต่ำกว่าต้นทุน”

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

บุก‘เบลเยียม’กับไทยยูเนี่ยนฯ ตะลุยงาน‘ซีฟู้ด เอ็กซ์โป’

สูตรง่ายๆ คือการแบ่งจับทีละ 25% เช่น เลี้ยงกุ้ง 1 ล้านตัว รอด 8 แสนตัว เลี้ยงนาน 60-70 วันจนกุ้งมีขนาด 80 ตัว/กิโลกรัม เท่ากับมีกุ้งในบ่อ 10 ตัน ให้จับขายหน้าบ่อ 25% จากนั้นเลี้ยงกุ้งที่เหลืออีก 6 แสนตัวต่อไปอีก 3 อาทิตย์ ให้กุ้งมีขนาด 40-50 ตัว/กิโลกรัม จับขายอีก 25% ซึ่งราคาจะสูงกว่าครั้งแรกเพราะกุ้งตัวใหญ่กว่าเดิม

แบ่งจับทีละ 25% ไปจนครบ 4 ครั้ง ล็อตแรกการขายเป็นค่าลูกกุ้งที่ซื้อมาเลี้ยงเป็นหลัก รวมค่าน้ำ-ค่าไฟซึ่งมีทุกเดือน, ล็อต 2 เป็นค่าอาหาร ค่าน้ำ-ค่าไฟ, ล็อตที่ 3 ค่าเตรียมบ่อ ค่าน้ำ-ค่าไฟ ล็อตที่ 4 เป็นการจับกุ้งที่มีขนาด 20-25 ตัว/กิโลกรัม รอบนี้คือกำไรล้วนๆ เป็นบิ๊กโบนัส

การเลี้ยงแบบนี้ยังมีข้อดีเรื่องตลาด ห้องเย็นจะมีของทุกเดือน ผลผลิตไม่ออกมาล้นตลาดในครั้งเดียว ราคากุ้งก็ไม่ตก


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน