กรมประมงเตรียมตั้งธนาคารกุ้งมังกรหลังนักท่องเที่ยวชอบกิน หวังดันเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่-ราคาพุ่งกิโลเฉียด 4 พันบาท

นักท่องเที่ยวชอบกินกุ้งมังกร – นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ ณ บ้านท่าฉัตรไชย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเยี่ยมชมการเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง และมอบพันธุ์กุ้งมังกร จำนวน 1 แสนตัว ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ว่า เพื่อรองรับความต้องการบริโภคกุ้งมังกร ของกลุ่มนักท่องเที่ยว ตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ อาทิ ภูเก็ต และ กทม. ส่งผลให้ราคากุ้งมังกรปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ราคาประมาณ 3,500-3,800 บาท/กิโลกรัม ภายในปี 2562 กรมประมง จึงเตรียมจัดตั้งธนาคารกุ้งมังกร เพื่อสร้างให้เป็นแหล่งกระจายลูกพันธุ์กุ้งมังกรไปสู่ในธรรมชาติ เพื่อชดเชยความต้องการบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งที่มีการบริโภคกุ้งมังกรเจ็ดสีที่ใหญ่ที่สุดของไทย

ทั้งนี้ ตัวเลขการนำเข้ากุ้งมังกร เมื่อปี 2560 มีการนำเข้าจากต่างประเทศผ่านด่านศุลกากรภูเก็ตมากกว่า 5 พันกิโลกรัม/ปี มูลค่าสูงกว่า 18 ล้านบาท กุ้งมังกรเจ็ดสี เป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก กรมประมง จึงจะผลักดันให้กุ้งมังกรเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย เริ่มต้นด้วยการสร้างให้มีลูกพันธุ์กุ้งมังกรที่พอเพียงต่อการนำมาเลี้ยงต่อในกระชัง ทำให้การเลี้ยงมีความต่อเนื่องในทางการตลาด รวมถึงมาตรการอนุรักษ์กุ้งมังกรในธรรมชาติด้วย

สำหรับการดำเนินการธนาคารปูม้าบ้านท่าฉัตรไชย หลังดำเนินงานมา 2 ปีกว่า ชุมชนได้มีการติดตามสังเกต พบว่า ปูม้าในบริเวณบ้านท่าฉัตรไชยที่จับได้ภายหลังการปล่อยลูกปูไปมีจำนวนมากขึ้น สัตว์น้ำมีความสมบูรณ์ขึ้น และยังได้รับทราบว่าจังหวัดภูเก็ต ยังมีธนาคารปูม้า ที่มีความเข้มแข็งแบบนี้อีก 3 แห่ง คือที่บ้านปากบาง บ้านแหลมทราย และบ้านบางโรง และมีแนวโน้มที่จะมีการขยายเพิ่มธนาคารปูม้าไปยังชุมชนประมงท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตอีกหลายแห่ง

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนชุมชนประมงท้องถิ่น ของจังหวัดภูเก็ต จำนวน 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าฉัตรไชย ชุมชนบ้านบางโรง ชุมชนบ้านปากบาง ชุมชนบ้านป่าหล่าย ชุมชนบ้านราไวย์ ชุมชนบ้านบางเทา ชุมชนบ้านรายัน ชุมชนบ้านแหลมหลา ชุมชนบ้านแหลมหิน ชุมชนบ้านด่านหยิก เกี่ยวกับการทำประมงพื้นบ้านที่ชุมชนได้รับ หลังจากที่ทางภาครัฐได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU

ชาวประมงพื้นบ้านต่างพอใจกับผลผลิตที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด สัตว์น้ำที่เคยหายไปก็มีกลับมา สัตว์น้ำที่เคยจับได้น้อยก็กลับมาจับได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านดีขึ้น อีกทั้ง ชาวประมงพื้นบ้านยังชื่นชมถึงแนวทางการบริหารจัดการการทำประมงของประเทศไทยเพื่อให้เกิดยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน