ก.พลังงานเช็กสถานะกองทุนน้ำมันฯ คาดส.ค. มีเงิน 3.8 หมื่นล้าน ลุ้นราคาแอลพีจีลง-ชงรมว.คนใหม่ชี้ขาดต่อ/ไม่ต่ออายุอุ้มบี 20 ลิตรละ 5 บาท

ลุ้นราคาแอลพีจีลดลง – นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือกบง. ว่า ขณะนี้ราคาแอลพีจีในตลาดโลกเริ่มปรับลดลงอยู่ที่ 365 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่จะส่งผลให้ราคาแอลพีจีขายปลีกถังครัวเรือน 15 กิโลกรัม (ก.ก.) จากปัจจุบันอยู่ที่ 363 บาทต่อก.ก. ลดลงหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับนโนยายของรมว.พลังงานคนใหม่ตัดสินใจ เนื่องจากขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีแอลพีจี ยังติดลบ 6,500 ล้านบาท

ล่าสุดกบง. ได้รายงานสถานะกองทุนน้ำเชื้อเพลิงภาพรวม ณ วันที่ 30 มิ.ย. มีฐานะสุทธิ 35,911 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 42,011 ล้านบาท บัญชีแอลพีจี ติดลบ 6,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าไปดูแลราคาแอลพีจีที่ก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่ถึงกรอบวงเงินกำหนดให้ดูแลไม่เกิน 7,000 ล้านบาท และคาดสถานะกองทุน วันที่ 31 ส.ค. 2562 จะมีเงิน 38,494 ล้านบาท โดยบัญชีแอลพีจีจะติดลบเหลือ 6,046 ล้านบาท จากราคาแอลพีจีโลกที่ปรับลดลง

ส่วนนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ บี 20 ขณะนี้ยอดการใช้อยู่ที่ประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน ถือว่า เป็นยอดที่ตามเป้าหมายแล้ว จากที่ผ่านมาอยู่เพียง 9 แสนลิตรต่อวัน ส่วนจะขยายเวลาการขายบี 20 ต่ำกว่าดีเซลธรรมดาลิตรละ 5 บาท จากเดิมถึงวันที่ 31 ก.ค.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรมว.พลังงานคนใหม่ หากไม่ต่อเวลามาตรการดังกล่าวก็จะกลับไปขายบี 20 ต่ำกว่าดีเซลธรรมดาลิตรละ 3 บาทต่อไป

ด้านนายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2561-2580 หรือ แผนเออีดีพี 2018 ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือพีดีพี 2018 โดยเบื้องต้นแผนเออีดีพีได้ปรับเป้าหมายให้สูงขึ้นจากปี 2015 อาทิ ปรับแผนส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตามแผนเดิมปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันดำเนินการได้แล้ว 2,849 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ขณะที่แผนใหม่กำหนดว่า ระหว่างปี 2561- 2580 จะมีพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 12,725 เมกะวัตต์ มาจากโซล่าร์รูฟท็อปและโซล่าร์แบบทุ่นลอยน้ำเป็นหลัก ทำให้ในปี 2580 มีเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์รวมอยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์

ส่วนพลังงานชีวมวล แผนเดิมอยู่ที่ 5,570 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2560 สามารถดำเนินการได้แล้ว 2,290 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561-2580 อีก 3,496 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 5,786 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะมีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ไม่มีในแผนเดิม เช่น การเพิ่มเป้าหมายของโรงไฟฟ้าขยะจากเดิม 500 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ โดยอีก 400 เมกะวัตต์คาดว่าจะสามารถเข้าสู่ระบบได้ในปี 2565 และยังมีนโยบายอุดหนุนราคาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 5.78 บาทต่อหน่วยด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของแผนพีดีพี 2018 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 อยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ ซึ่งจากเป้าหมายนี้จะต้องมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 56,431 เมกะวัตต์ในระหว่างปี 2561-2580 และช่วงดังกล่าวอาจมีโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางอีกประมาณ 25,310 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2560 อยู่ที่ 46,090 เมกะวัตต์ รวมทั้งจะต้องพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย พร้อมระบุว่า ในท้ายแผนเออีดีพี 2018 จะทำให้เป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 33% จากแผน 2015 มีเป้าหมายอยู่ที่ 20% และปัจจุบันสามารถดำเนินการได้แล้ว 10% โดยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้สมมุติฐานถึงอัตราราคาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว ภาพรวมจะประมาณ 2.44 บาทต่อหน่วย ซึ่งยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อราคาค่าเอฟทีในอนาคต

อย่างไรก็ตาม พพ. อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นของแผนเออีดีพี 2018 จากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ค่าว่าในเดือนส.ค. 2562 จะเริ่มดำเนินการได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน