ส.อ.ท.ร่วมภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชนรวม 34 องค์กร เปลี่ยนโฉมขยะพลาสติกเป็นของใช้ใหม่ หลังไทยทิ้งขยะลงทะเลสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ถกรัฐออกกฎหมายบังคับบีบคอผู้บริโภคลดใช้ถุง นำร่องห้าง/ร้านค้าคิดค่าถุงพลาสติกใบละ 2 บาท

ลุยเปลี่ยนขยะพลาสติกใช้ใหม่ – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับในการทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกส.อ.ท. ร่วมกันริเริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืน (พีพีพี พลาสติก) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 ล่าสุดมีสมาชิก 34 องค์กร เพื่อวัตถุประสงค์เปลี่ยนขยะพลาสติกกลับมาเป็นทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจากการหารือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมกำหนดแนวปฏิบัติเรื่องนี้เป็นมาตรการภาคบังคับหลายด้าน ควบคู่กับให้ความรู้และความเข้าใจในการจัดการพลาสติกหลังการใช้ โดยตั้งเป้าหมายลดขยะพลาสติกในทะเลไทยได้ไม่ต่ำกว่า 50% ในปี 2567

“การจัดการขยะทั้งระบบ การฝังกลบคงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ภาคเอกชนทำคนเดียวไม่ได้ต้องร่วมกับภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นอยากให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการคัดแยกขยะที่ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่รัฐ ขยะบางส่วนยังสามารถไปทำโรงไฟฟ้าได้ สิ่งนี้ต้องหนุนอย่างเต็มที่ โดยต้องมีการแก้ไขกฎหมายขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ”นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ พีพีพี พลาสติกได้วางกรอบการดำเนินงานไว้ 6 เสาหลักได้แก่ 1. การจัดการขยะและสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติกโดยทำกรณีศึกษาในเขตเมืองพื้นที่ 7 แห่งในเขตคลองเตยคาดจะแล้วเสร็จกลางปี 2563 และภูมิภาคในพื้นที่องค์กรบริหารส่วนจังหวัดระยองที่ภายในปี 2563 จะมีก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเพื่อจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ 2. การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม เช่น การนำเศษพลาสติกไปผสมยางมะตอยทำถนนราดยาง 3. การสื่อสารประชาสัมพันธ์ 4. การทำงานร่วมภาครัฐเพื่อพัฒนานโยบายและกฏหมายต่างๆ 5. การจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติก และ 6. การหาเงินทุนและงบประมาณ

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท. กล่าวว่า พีพีพี พลาสติกอยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรการบังคับทางกฎหมาย โดยกำหนดให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีของภาครัฐนำร่องจำหน่ายถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการแทนการให้ฟรี ในราคาเบื้องต้นที่เสนอไว้ 2 บาทต่อถุง เพื่อนำเงินรายได้ส่วนนี้มาจัดสรร 3 ส่วนได้แก่ 1. จำนวน 25 สตางค์ ให้ห้างฯ ร้านที่ร่วมโครงการนำไปทำกิจกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร 2. จำนวน 50 สตางค์ ส่งเข้ากองทุนพลาสติกที่บริหารโดยสถาบันพลาสติกสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ 3. จำนวน 1.25 บาท มอบให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำไปบริหารจัดการขยะภาพรวม

“กำลังคุยกันในคณะอนุกรรมการจัดการขยะพลาสติกภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีตัวแทนจากคลังทำหน้าที่พิจารณากฎหมายด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่ต้องการให้ออกมาตรการแล้วมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายถุงเพราะเป็นเรื่องของกำไรที่เห็นว่าส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่อยากให้นำมารวมไว้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขอนำเงินกองทุนภายใต้สถาบันพลาสติกนี้ที่มีประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี มาดำเนินงานได้ คาดว่าแนวทางทั้งหมดเป็นรูปธรรมในปี 2563”

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคธุรกิจกำลังมุ่งสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐกำลังผลักดันคือ Bio Economy ,Circular Economyและ Green Economy โดยการจัดการขยะพลาสติกของไทยถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะในข้อเท็จจริงพลาสติกไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาหาคือนิสัยและพฤติกรรมจากคนที่ทิ้งขยะไม่ถูกวิธีดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นเรื่องยากสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน