บอร์ด PPP ตีกลับ 2 โครงการลงทุนใหญ่ “ศูนย์การแพทย์สาธารณสุข-โครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่” วงเงินรวมกว่า 1.37 หมื่นล้าน จี้พิจารณารายละเอียดโครงการ รูปแบบเอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจและสิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้เหมาะสม

ตีกลับ 2 โครงการลงทุนใหญ่ – นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความเหมาะสมของหลักการของโครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ของกรมการแพทย์มูลค่ารวมกว่า 8,200 ล้านบาท ถือเป็นโครงการ PPP เชิงสังคมในกิจการด้านสาธารณสุขโครงการแรก โดยเป็นโรงพยาบาลศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ขนาด 510 เตียง ตั้งอยู่บริเวณสถานีกลางบางซื่อนั้น โดยได้มอบหมายให้กลับไปเร่งรัดพิจารณาความชัดเจนในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการลงทุน (บีโอไอ) ด้านภาษี และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน

เนื่องจากโครงการดังกล่าว ถือเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPPGrossCost โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด และรัฐจะเป็นผู้บริหารและให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ใช้บริการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังพิจารณาความเหมาะสมของหลักการ และเร่งรัดให้พิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจที่เอกชนจะมีส่วนทำให้โครงการประสบความสำเร็จ สำหรับโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) ของการเคหะแห่งชาติมูลค่ารวมกว่า 5,500 ล้านบาท โดยเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และมีโรงพยาบาลหรือกิจการด้านดูแลรักษาสุขภาพ และศูนย์การค้าชุมชน เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้โครงการที่อยู่อาศัยมีคุณภาพมากขึ้น บนเนื้อที่รวม 52 ไร่ บริเวณตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างทางเลือกด้านที่พักอาศัยให้แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งเพื่อรองรับในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นรูปแบบที่ กคช. ให้เอกชนเช่าที่ดิน เพื่อดำเนินการลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง บริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี

นายประภาศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ยังได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 (1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. ….

2. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าของโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. …. 3. เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของที่ปรึกษา พ.ศ. …. และ 4. เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. …. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562ในแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบรายละเอียดของแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน (แผน PPP) และแนวทางการจัดทำ ปรับปรุง และติดตามผลการดำเนินการตามแผน PPP โดยมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคมของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาดำเนินการโครงการ PPP ของประเทศในภาพรวมต่อไป พร้อมทั้งได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 20 (9) ในกรณีต่างๆ รวม 6 กรณี ได้แก่ 1. กรณีโครงการท่าเทียบเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

2. กรณีการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. กรณีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงแรมชายทะเลของกรมธนารักษ์ 4. กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และ 5. กรณีการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (OpenAccessNetwork) ให้ผู้ประกอบกิจการเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดให้บริการไปยังบ้านเรือนประชาชนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและ 6. กรณีโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน