นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่ จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งจัดทำมาตรฐานสินค้า (มอก.) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมระบบราง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ท่าเรือ ที่ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการผลิตและตรงตามความต้องการใช้ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับสากล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศให้ได้อานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากมีเอกชนหลายรายกังวลว่ากลุ่มผู้ชนะการประมูลโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นบริษัทที่มีบริษัทต่างชาติร่วมทุน เกรงว่าจะนำเข้าอุปกรณ์มาใช้ในโครงการ จึงต้องการให้ภาครัฐออกมาตรฐานสินค้าดังกล่าวรองรับโครงการต่างๆ และเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เรื่องข้อกำหนดการส่งเสริมใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อสนับสนุนการใช้สินค้าไทย โดยต้องไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ควบคู่กับเร่งสร้างมาตรฐานทักษะแรงงานสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

นอกจากนี้ จะเร่ง 5 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม คือ 1. การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (เอส-เคิร์ฟ) ให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดนโยบายเดิม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีค่ายผู้ผลิตรถยนต์ได้รับการส่งเสริมลงทุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มูลค่าเงินลงทุนกว่า 53,000 ล้านบาท หรืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

2. การยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยปี 2563 ขอรับการจัดสรรงบโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยแนวทางเกษตรอุตสาหกรรมวงเงินกว่า 400 ล้านบาท ยกระดับสู่การแปรรูปสินค้าเกษตรเชื่อมโยงคลัสเตอร์ผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปต่างๆ ตั้งเป้าหมาย 6,400 ราย คาดจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจถึงกว่า 1,050 ล้านบาท

3. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อยึดโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับศักยภาพเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค โดยการขับเคลื่อนผ่านโครงการอีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 4. การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 5. ปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ราชการ 4.0 ที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศภายในปีนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการเหล็กรายใหญ่ของประเทศ เช่น ทาทาสตีล และมิลคอล อยู่ในกลุ่ม 7 สมาคมผู้ค้าเหล็ก ได้หารือเบื้องต้นกับสมอ. เพื่อให้ช่วยพิจารณาข้อเรียกร้องกลุ่มผู้ประกอบการเหล็กในไทยที่ต้องการให้รัฐบาลกำหนดมาตรฐานใหม่ สำหรับเหล็กกล้าที่จะใช้ก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น ระบบราง เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

“กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กคาดการณ์ว่าระบบรางที่จะก่อสร้างน่าจะใช้เหล็กประมาณ 500,000 ตัน หากสมอ. ออกมาตรฐานกำหนดเหล็ก เพื่อใช้ในงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้อานิสงส์ เพราะส่วนใหญ่สามารถผลิตเหล็กคุณภาพสูงได้ ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่กลุ่มต่างชาติระบุว่าไทยทำไม่ได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน