เปิดมุมมอง‘ภาครัฐ-เอกชน’หนี้ครัวเรือนไทยแตะ13ล้านล.

เปิดมุมมอง‘ภาครัฐ-เอกชน’หนี้ครัวเรือนไทยแตะ13ล้านล. – ตาตั้งไปตามๆ กัน หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ออกมาเปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้

มีมูลค่ารวมถึง 12.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% และคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อจีดีพี เข้าใกล้ภาวะวิกฤตที่ 80% ต่อจีดีพี

เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560

ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสสองปี 2562 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเฉพาะเอ็นพีแอลของรถยนต์เพิ่มขึ้น 32.3% และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 12.5%

สภาพัฒน์ระบุว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยเมื่อเทียบกับจีดีพี ถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 11 ของโลก

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า คลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าไปติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งลง พื้นที่ และให้เครือข่ายเข้าไปติดตามดูแลปัญหาเป็นรายบุคคลแล้ว

“สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในขณะนี้ ยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องกังวล และมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เพราะต้องแยกแยะว่าหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เป็นหนี้ที่เกิดจากการทำธุรกิจ เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ หลักประกัน ถ้าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์รัฐบาลก็สนับสนุน ไม่ใช้หนี้ด้อยคุณภาพ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ประมาท ติดตามดูแลสถานการณ์ อยู่ตลอด”

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่สูงที่ระดับ 13 ล้านล้านบาท เป็นประเด็นที่ ธปท.แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง เพราะหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

แม้มาตรการที่ ธปท.ออกในช่วงก่อนหน้า เช่น มาตรการ LTV จะส่งผลดีทำให้การก่อหนี้ในหมวดอสังหาริมทรัพย์ชะลอลง แต่ยังต้องติดตามภาวะหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด

ส่วนภาคเอกชน โดย ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการ รองเลขาธิการและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลางหอการค้าไทย กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวภาครัฐต้องแยกให้ชัดเจนว่าหนี้ครัวเรือนประเภทไหนที่ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะมีบางกรณีพบว่าบางคนแค่ค้างจ่ายค่าโทรศัพท์ 1 เดือนก็ถูกขึ้นบัญชีเครดิตบูโร ทั้งๆ ที่อาจอยู่ระหว่างการเจรจาเพราะมีปัญหากับผู้ให้บริการ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่สามารถกู้เสินเชื่อได้ทั้งๆ ที่อาจมีรายได้มากกว่าหนี้ค่าโทรศัพท์

รวมทั้งต้องดูว่าหนี้ที่ประชาชนยืมมานั้นเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ ซึ่งต้องเปรียบเทียบให้ชัดเจน เช่น ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาอาจมีรถอยู่แล้ว 1 คัน แต่ต้องการซื้อรถเพิ่มเพื่อขยายกิจการส่งออกให้ได้มากขึ้น ต้องเปรียบเทียบรายได้ของผู้ประกอบการรายนี้ว่ามากขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่มองแค่ตัวหนี้ที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวต้องแยกออกจากคนที่กู้เงินหรือรูดบัตรเครดิตมาเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและไม่ก่อให้เกิดรายได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ภาครัฐต้องหาวิธีจัดการต้นตอหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นชัดเจน แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในประเทศถือที่เป็นเรื่องดี แต่อีกทางหนึ่งก็ต้องควบคุมการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น

“มองว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ดี เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากมาก รัฐบาลจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยไม่พึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบที่เป็นต้นตอปัญหาหนี้ครัวเรือนและต้องทำควบคู่กับการเร่งแก้ปัญหาเจ้าหนี้นอกระบบด้วย”

ด้าน นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ ในภาคค้าปลีกเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เห็นโปรโมชั่นผ่อนสินค้าลดลง โดยเฉพาะโปรโมชั่นผ่อนสินค้าดอกเบี้ย 0% ซึ่งในช่วงนี้หากทยอยยกเลิกจัดโปรโมชั่นผ่อนสินค้า 0% อาจทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนหายไปจากระบบเศรษฐกิจ

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และหนี้สินเชื่อรถยนต์เป็นหนึ่งในหนี้ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อาจจะทำให้มีความยากลำบากในการขายมากขึ้น เพราะการอนุมัติสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น

“ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคในการขาย แต่ไม่ได้รุนแรงนัก โดยยอดปฏิเสธสินเชื่อมีเพียงเล็กน้อยประมาณ 1-2% ต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อของโตโยต้า ตรวจสอบเครดิตของลูกค้าอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ขณะนี้จึงยังไม่พบปัญหาใดๆ”

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังไม่มีปัจจัยอะไรที่จะผลักดันเศรษฐกิจที่ชัดเจน และมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอน แต่ในครึ่งปีหลัง เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น นโยบายและการผลักดันจากรัฐบาลที่ชัดเจน การเคร่งครัดการอนุมัติสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยลดภาระหนี้ลงได้ และทำให้การใช้จ่ายเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริง

“คงต้องจับตาดูภาวะหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงท้ายของปีที่ปกติประชากรจะมีรายได้มากยิ่งขึ้น เช่น การเก็บเกี่ยวและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ประจำฤดูกาลในช่วงปลายปีการท่องเที่ยวที่คึกคักมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลานั้น คิดว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี”

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เป็นห่วงต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดีธนาคารเองก็มีเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่ออย่างระมัดระวังอยู่แล้ว เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกับทุกแห่ง โดยดูจากสัดส่วนรายได้ของผู้กู้ต่อหนี้สินที่ประมาณ 40% ทำให้การเติบโตด้านสินเชื่อของธนาคารลดลง ไม่สูงอย่างในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นจากการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เอง

แต่ในอีกด้านหนึ่งธนาคารต้องดูแลในส่วนของการทำโปรโมชั่นต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดการก่อหนี้มากเกินไป เช่น ผ่อน 0% เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ถือว่าผิดแต่เป็นการส่งเสริมให้คนก่อหนี้ และเมื่อวันหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเกินกว่าหนี้ที่มีอยู่ ก็จะเกิดความลำบาก

“ดังนั้นผู้บริโภคเองก็ต้องปรับพฤติกรรม ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าเป็นหนี้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน