ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาข้าวขาดตลาด-ราคาพุ่ง ยกเลิกโควตานำเข้าจากต่างประเทศ-ยกเลิกจีทูจี เปิดช่องไทยส่งออกเพิ่ม

ส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์เฮ! – น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกการจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ และยกเลิกการซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาข้าวขาดตลาด และมีราคาสูง โดยการยกเลิกโควตา จะนำไปสู่การซื้อขายข้าวอย่างเสรีในฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวไทยไปขายฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหลัก และเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเสียภาษีนำเข้าข้าวในอัตรา 35% เทียบกับคู่แข่งที่อยู่นอกอาเซียนต้องเสียภาษีนำเข้า 50% และถูกจำกัดการซื้อไว้ที่ 3.5 แสนตันเท่านั้น ในช่วงปี 2557-61 ไทยเข้าร่วมประมูลเพื่อขายข้าวให้ฟิลิปปินส์ไทยชนะ 6 ครั้ง และไทยสามารถส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ได้ 1.1 ล้านตัน มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเปิดเสรีการซื้อขายข้าวของฟิลิปปินส์แล้วเป็นโอกาสดีที่ไทยจะส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวถึงกรณีรัฐบาลฟิลิปปินส์แจ้งไม่ต่ออายุบันทึกความตกลงว่าด้วยการซื้อขายข้าว ระหว่างรัฐบาลไทย และ รัฐบาลฟิลิปปินส์ ที่หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2561 และจะมีการเอ็มโอยูฉบับใหม่ ซึ่งจะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561-1 ธ.ค. 2563 ว่า ฟิลิปปินส์ได้มีการเปลี่ยนแปลงการนำเข้าข้าวจากเดิมจะเป็นการซื้อขายผ่านหน่วยงานรัฐ (องค์การอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (เอ็นเอฟเอ) มาเป็นการค้าแบบเสรี โดยไม่ต้องทำการซื้อขายผ่านหน่วยงานรัฐนั้น ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ต่ออายุเรื่องการซื้อขายข้าวผ่านรัฐกับรัฐนั้น ดังนั้นโอกาสในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี อาจหมดไปและอาจทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้ในอนาคต เพราะปัจจุบันเวียดนามยังมีสัญญาการซื้อขายข้าวกับรัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่ ซึ่งโอกาสที่เวียดนามจะได้ส่วนแบ่งตลาดไทยไปก็มีสูง ซึ่งเอกชนเองมองว่ารัฐบาลควรมีการหารือกับรัฐบาลของฟิลิปปินส์อีกครั้งเพื่อให้เกิดการต่ออายุบันทึกดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีการเปลี่ยนแปลงการค้าเป็นแบบรัฐต่อรัฐไทยก็ยังจะมีโอกาสในตรงนี้

“สมาคมเตรียมเดินทางไปฟิลิปปินส์กับกระทรวงพาณิชย์ในช่วงต้นเดือนหน้าเพื่อพบกับผู้นำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ และหน่วยงานรัฐของฟิลิปปินส์เพื่อไปหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะเกษตรกรของฟิลิปปินส์เองก็ไม่พอใจเพราะราคาข้าวในประเทศลดต่ำลงกว่า 30% เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวไปเยอะมาก”

อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้นำเข้าข้าวของเวียดนาม แม้ว่าเวียดนามจะขายข้าวได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ราคาดี เพราะมีคู่แข่งมาก ทั้งจากไทย และจากผู้นำเข้าจากฟิลิปปินส์เองและมีการกดราคาข้าวทำให้ราคาค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ข้าวไทยเองมีราคาสูงกว่าคู่แข่งถึง 80% โดยราคา FOB ข้าวไทยอยู่ที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ของเวียดนามราคาอยู่ที่ 320 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ด้านนางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยและฟิลิปปินส์ไม่มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และเอกชนกับเอกชนมาเป็นเวลานาน เนื่องในช่วงที่ผ่านมาไทยไม่เคยชนะการประมูลข้าว เนื่องจากราคาข้าวไทยมีราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ไทยเริ่มกลับมาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีอีกครั้งเมื่อตอนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ปี 2557 และมีการต่อสัญญาต่อเนื่องปีต่อปี ดังนั้นกรณีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์แจ้งไม่ต่ออายุบันทึกความตกลงว่าด้วยการซื้อขายข้าว ระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลฟิลิปปินส์ นั้น ระบุ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ส่งออกไทยให้สามารถส่งออกและขยายตลาดข้าวในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชนผู้ส่งออกข้าวของฟิลิปปินส์ ประกอบกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ มีการปรับเปลี่ยนระบบการนำเข้าจากเดิมองค์การอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (National Food Authority: NFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่นำเข้าข้าว เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียวเพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นการค้าแบบเสรีโดยให้เอกชนสามารถนำเข้าข้าวแทน

สำหรับการนำเข้าข้าวแบบจีทูจี ตั้งแต่ปี 2557-2561 มีทั้งสิ้น 6 ฉบับ ปริมาณ 1.1 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท โดยข้าวที่ฟิลิปปินส์นำเข้าเป็นข้าวขาว 25%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน