นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยผลประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานปี 2562 ร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกจำนวน 33 หน่วยงาน ว่า ที่ประชุมได้จำลองสถานการณ์ “ปิดช่องแคบฮอร์มุซ” จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและรัฐบาลเตหะรานของอิหร่านที่อาจส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบของไทยหายไปถึง 62% ต่อวัน ทำให้น้ำมันไม่พอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จนต้องมีการประกาศใช้มาตรการปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ทุกหน่วยงานวางมาตรการรับมือ

ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้นำกรณีการโจมตีซาอุดิอาระเบียมาจำลองสถานการณ์ เพราะล่าสุดราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลงแล้ว อีกทั้งจากผลการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียมเรื่องการเพิ่มสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (เอสพีอาร์) นั้นยืนยันไทยยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการ ส่วนข้อเสนอของกลุ่มโรงกลั่นที่ต้องการให้ลดสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจากปัจจุบัน 6% เหลือ 5% นั้นภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่น้ำมันยังไม่มีความแน่นอน จึงยังไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ

ด้านน.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวนในช่วงนี้ จะส่งผลให้การคำนวณราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สูงขึ้นหรือไม่นั้น ต้องติดตามความชัดเจนอีกครั้งว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลยาวนานหรือไม่ และจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้นไปเท่าไหร่ ก่อนที่จะนำมาคำนวณเป็นค่าเอฟที

นอกจากนี้ กกพ. ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ผ่านเข้าโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสบันสนุนการให้บริการพลังงาน (อีอาร์ซี แซนด์บ๊อกซ์ : ERC Sandbox) ระยะที่ 1 จำนวน 34 โครงการ จากผู้ที่สนใจจากทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการพลังงานชั้นนำภาครัฐ และเอกชน สถาบันอุดมศึกษาที่ยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 183 โครงการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ โครงการทดสอบเกี่ยวกับเก็บกักประจุไฟฟ้าสูงสุด 9 ราย

โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำแหน่าย 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย 6 ราย ที่มีผู้สนใจโครงการนี้จำนวนมากถึง 137 ราย จากผู้ยื่นทั้งสิ้น 183 ราย ซึ่ง กกพ. จะหารือกับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อลงนามหนังสือการเข้าร่วมโครงการภายในสิ้นปีนี้ ก่อนเริ่มทดสอบตามหลักเกณฑ์ประมาณต้นปี 2563 พร้อมเปิดโครงการระยะที่ 2 ต่อไป ตั้งเป้าหมายระยะเวลาทดสอบแล้วเสร็จภายใน 3 ปี

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มของราคาเทคโนโลยีของระบบเก็บกักประจุไฟฟ้าลดลงต่อเนื่อง และเป็นจังหวะที่ดีในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทนราคาถูกลง เทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีความต้องการส่งผลให้มีความต้องการผลิตไฟฟ้าที่ลดการพึ่งพาระบบ ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปต้องพิจารณาสถานการณ์ที่เหมาะสมทั้งในแง่เวลา ปริมาณการแข่งขันด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงความยั่งยืนและผลกระทบรอบด้าน

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ควิก วิน) หลังอนุมัติโครงการก่อสร้าง 11 โครงการ และกำหนดขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 นี้ ว่าจะต้องดูความชัดเจนในช่วงก่อนสิ้นปีว่าจะมีโรงไหนสามารถจ่ายไฟได้ทัน เนื่องจากต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย ทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ตามแนวนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานด้วยว่าจะปรับสัดส่วนอย่างไรบ้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน