นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ครั้งที่ 3/2562 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการของบประมาณกลางเพื่อชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่าง ประมาณ 286 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการระหว่าง 1 ต.ค. 2562 ถึง 30ก.ย. 2563 นี้

ปัจจุบัน ปัญหาโรคใบด่างในมันสำปะหลัง มีการระบาดไปแล้ว 11 จังหวัด หรือประมาณ 45,400 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ปัจจุบัน 3.6 ตัน อย่างไรก็ดี สำหรับงบประมาณที่ขอมาชดเชยนั้นแบ่งเป็น ค่าจ้างเหมาในการทำลายมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ติดโรคใบด่างไร่ละ 3,000 บาท วงเงิน 136 ล้านบาท และอีก 136 ล้านบาท เป็นวงเงินสำหรับจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรไร่ละ 3,000 บาท และอีก 14 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการ

สำหรับเงื่อนไขผู้เข้าร่วมโครงการนั้น ต้องแจ้งการพบโรคใบด่างตั้งแต่ 1 ต.ค.2562-30 มิ.ย.2563 และแปลงมันที่ปลูก ต้องขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังปลูกตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2562 แต่ถ้าเกษตรกรยังใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาปลูก หลังจากวันที่ 30 ก.ย. 2562 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาใช้พ.ร.บ.กักกันพืช ประกาศเป็นเขตควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่สามารถทำลายมันสำปะหลังที่ปลูกได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป

“หากพบว่าเกษตกรเจ้าของพื้นที่ไม่แจ้งการระบาดของโรคก็จะไม่ได้เงินชดเชยตามหลักเกณฑ์ เพราะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ เพราะโรคดังกล่าวมีการระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผลผลิตในประเทศลดลง สำหรับสถานการณ์ราคาขณะราคาหัวมันสดราคาอยู่ที่ประมาณ 2 บาท และมีแนวโน้มจะดีขึ้นหากผลผลิตภายในประเทศลดลง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็มีการระบาดของโรคนี้เช่นกัน”นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการ นบมส. จะหมดอายุลงในวันที่ 30 ก.ย. 2562 ได้มอบนโยบายในการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ คณะกรรมการจะต้องประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่า ในพื้นที่ 11 จังหวัด ที่มีการระบาดของโรคใบด่าง มีพื้นที่ประมาณ 4.54 หมื่นไร่ คิดเป็น 1% ของพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศที่มีปริมาณ 5 ล้านไร่

สำหรับความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยระบุว่าได้สั่งการให้ไปหารือ 3 ฝ่าย (รัฐ-เอกชน-เกษตรกร) ก่อนเข้าที่ประชุมนี้ สำหรับโครงการประกันรายได้หลังจากที่ได้ดำเนินการในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับประกันปาล์ม ประกันข้าว หลังจากนี้จะเป็นเรื่องของยางพารา และในเรื่องของโครงการประกันมันสำปะหลังนั้นจะตามมาหลังจากนั้น

ด้านนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์สำรวจและป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ณ ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด จ. นครราชสีมา สำหรับการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้เกิดความยั่งยืนและสามารถควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังได้

โดยภายในงานมีการจัดฐานเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรในเรื่องการป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะนำโรคใบด่างฯ ต่อจากนั้นลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่บ้านหนองโค อ. ครบุรี จ. นครราชสีมา โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายกังสดาล สวัสดิ์ชัย เกษตรจังหวัดนครราชสีมา นายวิจิตร กิจวิรัตน์ นายอำเภอครบุรี นายวรกร เปรื่องค้า หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช และนายสุรศักดิ์ สิทธิไชย หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา นายสุรพล ชมภู เกษตรอำเภอครบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอครบุรี ให้การต้อนรับ

นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังนับเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเพื่อลดความเสียหายของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งระบบ โดยที่ประชุมครม.ล่าสุดได้มติเห็นชอบแก้ปัญหาโรคไวรัสใบด่างในมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส โดยกำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถขายผลผลิตคุณภาพดีได้ ชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่ได้รับผลกระทบ ไร่ละไม่เกิน 3,000 บาท และเป็นค่าทำลาย ไร่ละ 3,000 บาท จะดำเนินการทำลายไร่มันสำปะหลังที่ติดโรค โดยการขุด ถอน และฝังดิน โดยตั้งเป้าทำลายไว้ที่ จำนวน 45,399 ไร่ โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวแล้ว โดยรวมวงเงินอนุมัติไว้ จำนวน 272 ล้านบาท เป็นค่าชดเชย 136ล้านบาท และค่าทำลาย 136 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน