บิ๊กไบก์ มีจุก! คมนาคมสั่งจัดระเบียบ จยย. สั่งศึกษาแยกใบขับขี่ตามซีซีรถ ทำเลนจยย.เฉพาะ เล็งออกมาตรการบิ๊กไบก์ใหม่ ห้ามแซง ต้องทดสอบทักษะขับขี่ในห้อง Simulator เหมือนนักบิน หลังไทยขึ้นแท่นตายสูงสุดอันอับ 9 ของโลก

บิ๊กไบก์ วันที่ 24 ก.ย. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์วันนี้ว่า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาและออกมาตรการความปลอดภัย เพื่อลดสถิติอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากจักรยานยนต์อย่างเร่งด่วน เนื่องจาก 74% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาแสดงความกังวลว่าปัจจุบันไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งดีขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 2

โดยที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา 3 ชุด มอบให้ไปจัดทำมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ และนำไปเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จและนำกลับมาเสนอคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ภายใน 30 วัน

จากนั้นจะเสนอให้ นายศักดิ์สยาม พิจารณาเห็นชอบ และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป โดยคณะทำงานย่อย 3 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานด้านยานพาหนะ, ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการบังคับใช้กฎหมายและการประชาสัมพันธ์ คาดว่าจะสามารถนำมาตรการมาบังคับใช้ได้ภายในปีนี้เลย ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต้องรอการแก้ไขหรือออกกฎหมาย

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า คณะทำงานย่อยฯ จะต้องกลับไปออกมาตรการโดยต้องยึดตามกรอบมาตรการ 7 ด้านที่คณะทำงานเฉพาะกิจฯ เห็นชอบ คือ 1.มาตรการด้านคนขับขี่ 2.มาตรการด้านใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ อาจจะต้องทบทวนใบขับขี่ โดยแบ่งแยกประเภทใบขับขี่ตามขนาดของเครื่องยนต์ แบ่งเป็นรถเล็ก รถใหญ่บิ๊กไบก์, ทบทวนคุณสมบัติและวิธีการสอบใบขับขี่ตามชนิดของรถ โดยรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือบิ๊กไบก์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในระบบราว 2% อาจจะต้องมีการทดสอบทักษะการขับขี่ที่มากกว่ารถจักรยานยนต์ปกติ

โดยอาจจะกำหนดให้ผู้ขับขี่ จะต้องมีการทดสอบทักษะพิเศษผ่านเครื่องจำลองการขับรถเสมือนจริง หรือ Driving Simulator เหมือนกับทักษะที่ใช้ทดสอบสำหรับการสอบเป็นนักบิน เพื่อทดสอบสมรรถนะการขับรถในภาวะการขับขี่ที่ไม่ปกติ ฉุกเฉิน หรือ มีความเสี่ยง เช่น การขับรถในที่มืด, ช่วงมีฝนตก, ช่วงทางแยกที่มีรถจอด เป็นต้น เพื่อทดสอบความความสามารถในการแก้ไขปัญหาของผู้ขับขี่ เบื้องต้นกระทรวงฯ อาจจะต้องมีการลงทุนจัดทำห้องทดสอบ Driving Simulator ขึ้น

3.มาตรการด้านยานพาหนะ จะต้องหารือกับสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ และผู้ผลิต เพื่อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยรถจักรยานยนต์ให้สอดรับตามมาตรฐานสากล โดยแบ่งตามประเภทของรถ เช่น มาตรฐานของระบบเบรก รถขนาดใหญ่อาจจะต้องใช้ระบบ CBS

ส่วนรถขนาดเล็กอาจใช้ระบบ ABS เป็นต้น รวมทั้งกำหนดให้ผู้ผลิตแสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แสดงขนาดความจุกระบอกสูบบนตัวรถ เพื่อให้สามารถแบ่งแยกประเภทของรถได้ 4.มาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการขับขี่จักรยานยนต์ โดยมีแนวคิดให้จจัดทำเลนรถจักรยานยนต์เฉพาะแยกออกจากเลนรถยนต์

เบื้องต้นมอบให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ไปศึกษาความเหมาะสมและจัดทำโครงการนำร่องในถนนที่เห็นว่าเหมาะสมกลับมาเสนอ รวมทั้งไปถึงการจัดทำสะพานลอยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และทบทวนจุดกลับรถจักรยานยนต์ เพื่อแยกรถจักรยานยนต์ออกจากรถยนต์ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุได้

5.มาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กำหนดมาตรฐานความเร็วของรถแต่ละประเภท และในแต่ละพื้นที่ การออกมาตรการควบคุมการขับขี่จักรยานยนต์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเช่นในอุโมงค์ การออกมาตรการห้ามแซงรถยนต์ขณะขับสำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบก์ โดยจะต้องขับรถต่อแถวกันเหมือนรถยนต์ทั่วไป เพราะการขับบิ๊กไบก์แซงรถยนต์ในช่องทางที่จำกัดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะเป็นรถที่มีขนาดใหญ่กว่ารถจักรยานยนต์ปกติ นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มความเข้มงวดการให้เช่ารถจักรยานยนต์แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติตามสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยจะกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องนำใบขับขี่มาแสดงในการขอเช่ารถจากเดิมที่แสดงเพียงพาสปอร์ตเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่านักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ในไทยมาก ขณะที่ประเทศไทยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่เข้ามาควบคุมเรื่องธุรกิจบริการให้เช่ารถจักรยานยนต์ รวมทั้งจะต้องออกมาตรการควบคุมไม่ให้มีการดัดแปลงตัวรถ หรืออะไหล่ เนื่องจากที่ผ่านพบว่าเด็กแว้นมักมีการดัดแปลง ล้อรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น

6.มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ WHO ได้เสนอให้ไทยควบคุมเนื้อหาการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่เสี่ยงให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเยาวชนเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่นการโฆษณาน้ำมันเครื่องที่มีเนื้อหาอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ได้เร็วขึ้น และ 7.มาตรการตอบสนองภายหลังการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งในส่วนของแพทย์และหน่วยงานกู้ภัย จะต้องมีการกำหนดขั้นตอนการช่วยเหลือที่ถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน