สอน. สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยงวดสุดท้าย 3,293 ล้าน พร้อมเดินหน้าเศรษฐกิจฐานชีวภาพ และสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ต่อยอดการทำไร่อ้อยแบบสมาร์ตฟาร์ม 4.0

สอน.จ่ายเงินอ้อยครบแล้ว – นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ณ สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมคณะด้วย ว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาพบปะ พูดคุย และรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวไร่อ้อยในพื้นที่ โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้รับทราบและเข้าใจปัญหาของชาวไร่อ้อยเป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต จำนวน 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตัน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 ในวงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งได้รับรายงานจากเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าได้จ่ายเงินงวดที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 149,150 ราย วงเงิน 3,203 ล้านบาท

และงวดที่ 2 ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้สั่งจ่ายเช็คให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โอนเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยอีกจำนวน 160,281 ราย วงเงิน 3,293 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำหรับมาตรการช่วยเหลือในปี 2563 อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลืออย่างไรก็ตาม อาจจะพิจารณาในหลักการเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy ขยายต่อห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาปริมาณอ้อยและน้ำตาลล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำอย่างสารซอร์บิทอล (Sorbitol) และสารไอโซมอล์ท (Isomalt) เป็นต้น รวมถึงการวิจัยจุลินทรีย์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้พืชเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมไบโอในอนาคต เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องมีการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อรับช่วง สืบทอดอาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป จึงมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ต่อยอดการทำไร่อ้อย ให้ไปสู่สมาร์ทฟาร์ม หรือไร่อ้อย 4.0 โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตอ้อยแบบครบวงจร นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ การเตรียมดิน การบริหารจัดการ ไปจนถึงการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน เป็นการปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) สู่การทำเกษตรสมัยใหม่ที่มีการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) รวมทั้งการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนการวิจัยและส่งเสริมพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์กลุ่มเกษตรอาหารและชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรเกิดความก้าวหน้าและขยายวงกว้างไปสู่ชาวไร่อ้อยรายอื่นๆ เป็นการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับธุรกิจและอาชีพชาวไร่อ้อยตลอดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน