รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยกำหนดให้กลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณา ต้องมาเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ต.ค. หากปฏิเสธจะถูกริบหลักประกันซอง 2 พันล้านบาท และอาจถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) เป็นผู้ทิ้งงานนั้น

ล่าสุดเกิดปัญหาเกี่ยวกับวันที่รัฐกำหนดให้กลุ่มซีพีมาเซ็นสัญญา อาจจะต้องเลื่อนออกไปจากเดิมกำหนดเป็นวันที่ 15 ต.ค. เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ยื่นหนังสือลาออกไปแล้ว หากซีพีมาลงนามจะทำให้สัญญาเป็นโมฆะทันที เนื่องจากสัญญาจะไม่มีผลผูกพันธ์กับรถไฟฯ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว จึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ รฟท. สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็น

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สาเหตุที่บอร์ดรถไฟฯ ต้องลาออกเกิดจากถูกนายศักดิ์สยาม ออกมากดดันให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม มีการเสนอรายชื่อบอร์ดรฟท. ชุดใหม่ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว โดยเป็นการเสนอรายชื่อคู่เทียบไปให้สคร. พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งนี้ ผู้เสนอไม่มีอำนาจไปกำหนดว่าจะเลือกใคร อย่างไรก็ตาม เมื่อสคร. พิจารณาแล้วเสร็จ จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อเห็นชอบ จากนั้นจะส่งกลับมาให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า โดยในเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม คาดว่าแม้ว่าจะมีเวลากระชั้นชิดแต่อย่างไรก็มั่นใจว่าเมื่อได้บอร์ดรฟท. ชุดใหม่แล้วจะยังคงเดินหน้าเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีได้ทันภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ แน่นอน

ด้านนายศักดิ์สยาม กล่าวว่า “อาจต้องเลื่อนการเซ็นสัญญาออกไปอีก 10 วัน เป็นวันที่ 25 ต.ค. เนื่องจากบอร์ดรฟท. ได้ยื่นหนังสือลาออก ซึ่งการลาออกของบอร์ดรฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะมีการลาออก เพราะคณะกรรมการคัดเลือก เพิ่งจะมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา และวันที่ 30 ก.ย. ได้ออกหนังสือแจ้งการลงนามให้แก่ผู้ชนะประกวดราคา ต่อมาเวลา 11.00 น. วันที่ 1 ต.ค. เมื่อผู้ชนะการประกวดราคามารับหนังสือ ปรากฎว่าบอร์ดรฟท. กลับลาออกในวันเดียวกัน เราจึงต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากไม่มีบอร์ดรฟท. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ครม.รับทราบได้”

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในวันที่ 15 ต.ค. จะมีการนำเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เข้าสู่ครม. ด้วยให้พิจารณาเห็นชอบงานสัญญา 2.3 (งานระบบ) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม CPH (ซีพี) พบว่ามีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่ม BSR ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน