นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถึงแนวทางการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาน้ำบาดาล ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าต้องให้ทุกชุมชนทุกหมู่บ้านเข้าถึง หลายพื้นที่ไม่สามารถจัดหาน้ำผิวดินได้ โดยเฉพาะพื้นที่หมู่บ้านห่างไกลการเข้าถึงแหล่งน้ำ

ดังนั้น น้ำบาดาลถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภค การสร้างความมั่นคงทางการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้น้ำบาดาลรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน โดยให้น้ำซึมลงสู่ด้านล่างโดยอาศัยเทคนิคทางวิชาการที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำมาตรฐานการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินที่ชัดเจน ทั้งจุดรับน้ำเข้ารวมถึงจุดเชื่อมต่อ

สำหรับเงื่อนไขในการพิจารณาก่อสร้างธนาคารน้ำใต้ดินแยกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1. มีความชัดเจนในเชิงพื้นที่โดยมีการศึกษาความพร้อมตามหลักทางธรณีวิทยาแล้วว่าพัฒนาได้ โดยเบื้องต้นมี 3 พื้นที่ที่มีความพร้อม ได้แก่ บริเวณพื้นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 500 แห่ง และพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดระยอง รวมจำนวน 30 แห่ง 2. พื้นที่อาจจะมีความพร้อมแต่ยังต้องศึกษาให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามหลักวิชาการ และ 3. พื้นที่ที่ไม่สามารถพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดินได้ ก็ต้องมีการเผยแพร่ให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานและประชาชนรู้เช่นกัน

“การพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านมลพิษและคุณภาพน้ำ เนื่องจากบางพื้นที่สามารถจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินได้ แต่เพื่อช่วยชะลอหรือรองรับน้ำหลากเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ได้”

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับแผนงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ภายใต้แผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) (Master Plan) ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนา/ขยายเขตระบบประปา/เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน จำนวน 614 หมู่บ้าน และการพัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน จำนวน 4,015 แห่ง ปริมาณน้ำ 88 ล้านลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 366,700 ครัวเรือน

ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีเป้าหมายในการจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน จำนวน 31,222 แห่ง ปริมาณน้ำ 858 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,555,790 ไร่ และการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ/ระบบส่งน้ำใหม่ จำนวน 236 แห่ง ปริมาณน้ำ 196 ล้านลบ.ม. และด้านที่ 6 การบริหารจัดการ โดยมีแผนงานในการปรับปรุงกฎหมายทรัพยากรน้ำบาดาล การจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติทรัพยากรน้ำบาดาล 20 ปี การติดตามประเมินผลเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในองค์กรรวม การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจและระบบสนับสนุนการวางแผนการพัฒนาการใช้ประโยชน์ การศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การรับรู้และประชาสัมพันธ์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลให้กับประชาชน

โดยในปี 2561-62 มีผลดำเนินงานตามแผนแม่บทน้ำฯ ดังนี้ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำ อุปโภคบริโภค สามารถพัฒนา ขยายเขต และเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 44 แห่ง และการพัฒนาน้ำดื่มสะอาดให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสม จำนวน 1,004 แห่ง และด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต สามารถจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ปริมาณน้ำ 72.44 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 102,130 ไร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน