นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความความคิดเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีผู้เข้าร่วมฟังจากทุกภาคส่วนกว่า 200 ราย ว่า หลังจากรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนจะรวบรวมข้อเสนอต่างๆ สรุปเป็นแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจนภายใน 1 เดือนก่อนประกาศนโยบาย โดยระยะแรกคาดจะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนได้ประมาณ 250 แห่ง ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบเร่งด่วน (ควิก วิน) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เคยดำเนินการมาแล้ว แต่ยังติดปัญหา เกิดขึ้นก่อน 10-20 แห่งภายในกลางปี 2563

“สิ่งสำคัญ คือ เอกชนและภาคประชาสังคมต่างเห็นด้วยที่จะให้เกิดโครงการนี้โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการโรงไฟฟ้า และยังมีรายได้จากการขายวัสดุเหลือใช้หรือวัตถุดิบทางการเกษตร และพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยเบื้องต้นอาจให้ชุมชนมีสัดส่วนถือหุ้นในโรงไฟฟ้าอยู่ประมาณ 10-30%”

สำหรับข้อเสนอที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หยิบยกมาและส่วนใหญ่เห็นด้วยคือ เรื่องส่วนแบ่งรายได้จากโรงไฟฟ้าที่จะคืนสู่ชุมชนอย่างน้อย 25 สตางค์ต่อหน่วย คงต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะต้องให้สอดรับกับอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบเอฟไอที โดยยืนยันหลักการว่าจะต้องไม่กระทบค่าไฟประชาชนในภาพรวม ในส่วนของเงินลงทุนคงต้องนำเสนอให้สถาบันการเงินของภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาก่อน แต่หากมองว่าไม่จูงใจพอ จะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้สถาบันการเงินของภาครัฐมาร่วมดำเนินการ

รายงานข่าวแจ้งว่า พพ. ได้นำเสนอรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ เบื้องต้นและเสนอรูปแบบร่วมทุนให้วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% (หุ้นบุรินสิทธิ) ที่เหลือเป็นเอกชน 90% สามารถดึงภาครัฐเข้ามาร่วมถือหุ้นในส่วนของเอกชนได้ด้วย ระยะเวลาสนับสนุน 20-25 ปี แต่เอฟไอทียังไม่ได้มีการระบุชัดเจนแต่เสนอให้ส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนอย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย โดยให้นำเข้ากองทุนหมู่บ้านและชุมเมืองแห่งชาติ ขณะที่เชื้อเพลิงทางการเกษตรจะเป็นรูปแบบราคาประกัน ขณะเดียวกันทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. มีสินเชื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 5,000 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนโครงการนี้ ขณะที่ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ระยะแรกควรให้หุ้นบุรินสิทธิวิสาหกิจชุมชน 10% หลังจากดำเนินการไป 1 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงลดลงแล้ว ให้หุ้นสามัญอีก 20% รวมเป็น 30%

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายกิติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการฯ เข้าพบ รมว.พลังงาน เพื่อรับทราบนโยบายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ว่าทางคณะกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วยกับการนำน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ให้การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง แต่หากจะช่วยแก้ปัญหาผลผลิตปาล์มดิบล้นตลาดที่ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ อยากเสนอให้กฟผ. รับซื้อเป็นล็อตๆ ครั้งละไม่มากแต่รับซื้อระยะยาว

โดยทางรมว.พลังงาน ยืนยันชัดเจนแล้วว่าเมื่อกฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจนครบ 2 แสนตันแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะยุติมาตรการนี้ลง ไม่มีการนำไปผลิตไฟฟ้าอีกต่อไปเนื่องจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายผลักดันการใช้น้ำมันดีเซลบี 10 ที่มีส่วนผสมบี 100 ในสัดส่วน 10% ให้เป็นน้ำมันพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งจะสามารถดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้นในระยะยาว คาดจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ดีเซลบี 10 อยู่ 57 ล้านลิตรต่อวัน ภายในไตรมาส 2/2563

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอให้ทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) โดยปรับเพิ่มสัดส่วนการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าปัจจุบันมีการกำหนดสัดส่วนการส่งเสริมใช้ในประเทศน้อยและการผลักดันมีความล่าช้าเกินไป

ทางกระทรวงฯ จึงชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนพีดีพีในส่วนของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) โดยต้องนำกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาร่วมพิจารณาในแผนด้วย เพื่อให้สะท้อนข้อเท็จจริงว่าโรงไฟฟ้าชุมชนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนหรือไม่ ทั้งสร้างรายได้ให้ชุมชน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เกิดประโยชน์โดยรวมต่อชุมชนจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน