เบื้องลึกศึกยืดเยื้อ 2.2 แสนล้าน ‘ไฮสปีดเทรน’เชื่อม 3 สนามบิน : รายงานพิเศษ

เบื้องลึกศึกยืดเยื้อ 2.2 แสนล้าน ‘ไฮสปีดเทรน’เชื่อม 3 สนามบิน – “โครงการกลับมีความล่าช้ายืดเยื้อยาวนานมาถึง 11 เดือนนับจากวันที่ 12 พ.ย. 2561 ที่รฟท.เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูล ผ่านมาจนวันนี้ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มโครงการได้ ขณะที่ระยะเวลา สิ้นสุดการยืนราคาประมูลของเอกชนจะครบกำหนด ยืนราคาในวันที่ 7 พ.ย.นี้แล้ว ซึ่งหากครบกำหนด ยังไม่ลงนาม กลุ่ม CPH มีสิทธิ์ขอเปลี่ยนแปลงราคาประมูลซึ่งอาจทำให้ประเทศเสียประโยชน์ได้”

ยังวุ่นวายไม่เลิกกับโครงการรถไฟความเร็ว สูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 ก.ม. มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 ปั้นมากับมือ

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจที่คุมกระทรวงคมนาคม ต้นสังกัดของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกมาประกาศขอเลื่อนวันลงนามสัญญา กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ CPH ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลออกไปอีก 10 วัน

จากเดิมนัดลงนามวันที่ 15 ต.ค. ขยับเป็น 25 ต.ค.

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ขีดเส้นตายให้กลุ่ม CPH ต้องมาลงนามวันที่ 15 ต.ค. ถ้าเบี้ยวขู่จะริบค่ามัดจำสัญญา 2 พันล้านบาท พร้อมขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) บริษัทในกลุ่ม CPH ซึ่งประกอบด้วย ซีพี, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ไม่ให้เข้าประมูลงานภาครัฐ

ในข้อหาทิ้งงานเพราะสาเหตุไม่ยอมมาลงนาม พร้อมประกาศจะเปิดทางเรียกเอกชนรายที่เหลือ คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV) เข้ามาเสียบแทน

เหตุที่ทำให้รองนายกฯ อนุทินต้องยอมเลื่อนเวลาให้ CPH อีก 10 วันนั้น นายศักดิ์สยามอ้างว่าเกิดจากประธานและกรรมการบอร์ด รฟท. ชิงลาออกไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ทำให้เกิดสุญญากาศ รฟท.ไม่สามารถลงนามกับ CPH ได้ เพราะตามขั้นตอนต้องรอให้บอร์ด รฟท. รับทราบร่างสัญญาก่อนลงนาม ขืนดันทุรังลงนามไปก่อนสัญญาจะไม่มีผลผูกพัน และเข้าข่ายเป็นโมฆะได้

อย่างไรก็ตาม หากย้อนมองถึงเหตุที่แท้จริงของการลาออกของประธานและกรรมการบอร์ดรถไฟแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากนายศักดิ์สยามออกมาเรียกร้องให้บอร์ดรัฐ วิสาหกิจทุกบอร์ดในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีปัญหาขาดทุนซ้ำซากแสดงสปิริต เพื่อเปิดทางให้คนใหม่เข้ามาทำงาน

บอร์ดการรถไฟฯ จึงพากันไขก๊อกจนกระทบการลงนามสัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน

นายศักดิ์สยามจึงต้องเร่งเสนอรายชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสหากิจ (สคร.) พิจารณาแบบด่วนจี๋ เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ วันที่ 15 ต.ค.นี้

จากนั้นบอร์ดรถไฟจะนัดประชุมรับทราบร่าง สัญญาในวันที่ 16 ต.ค. เพื่อให้ขั้นตอนทางกฎหมายสมบูรณ์ก่อนวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่นัดให้กลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญา

หลายคนสงสัยว่าทำไมจู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงไฟเขียวให้รองนายกฯ อนุทิน และนายศักดิ์สยามออกมาบีบให้กลุ่ม CPH รีบมาลงนามในสัญญา ส่วนหนึ่งอาจเพราะรัฐบาลต้องการให้โครงการเกิด เพื่อช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้กับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

แต่จากข้อเท็จจริงโครงการกลับมีความล่าช้า ยืดเยื้อยาวนานมาถึง 11 เดือนนับจากวันที่ 12 พ.ย. 2561 ที่รฟท.เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูล ผ่านมาจนวันนี้ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มโครงการได้

ขณะที่ระยะเวลาสิ้นสุดการยืนราคาประมูลของ เอกชนจะครบกำหนดยืนราคาในวันที่ 7 พ.ย.นี้แล้ว ซึ่งหากครบกำหนดยังไม่ลงนาม กลุ่ม CPH มีสิทธิ์ขอเปลี่ยนแปลงราคาประมูลซึ่งอาจทำให้ประเทศเสียประโยชน์ได้

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้โครงการนี้หยุดนิ่ง ว่ากันว่าเกิดจากกลุ่ม CPH กังวลเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างว่าอาจจะล่าช้า เพราะตามกรอบทีโออาร์กำหนดว่า รฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นได้ทันที 72% ขณะที่ซีพีต้องการที่ 100%

เพราะไม่ต้องการรับภาระความเสี่ยง เนื่องจากมีพื้นที่อีกหลายส่วนยังเคลียร์เวลาส่งมอบไม่ลงตัว ส่วนใหญ่เป็นงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคออกจากพื้นที่ ทั้ง ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน สายไฟฟ้า คลองส่งน้ำของ กรุงเทพมหานคร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานหินทั้งสิ้น

ประกอบกับมีกระแสข่าวว่ากลุ่ม CPH กำลังเจอปัญหาเพดานเงินกู้ในประเทศเต็ม จนต้องหันไปกู้จากต่างประเทศ แต่ยังตกลงเงื่อนไขกับเจ้าของเงินไม่ได้ จึงอาจทำให้กลุ่ม CPH มีความกังวล

การที่นายอนุทินออกมาขย่มซีพีให้เร่งลงนาม และขู่จะเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งประมูลเป็นอันดับ 2 มาเสียบแทนดูเผินๆ เหมือนจะมีความชอบธรรมอยู่ไม่น้อยหากอยู่บนเงื่อนไขการทำเพื่อรักษาผล ประโยชน์ของหลวง

แต่มีการตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า รายชื่อบรรดาพันธมิตรของกลุ่ม BSR JV นำโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แล้วจะเห็นว่ามีรายชื่อของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

ซึ่งมีบางบริษัทในกลุ่มนี้สนิทสนมกับผู้มีอำนาจทางการเมือง

อีกทั้งการประมูลของกลุ่ม BSR JV นั้นมีราคาสูงกว่า CPH หลายหมื่นล้านบาท

สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม CPH มีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่ม BSR ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนโครงการใน วงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท

คงต้องรอลุ้นว่าวันที่ 25 ต.ค.นี้ การลงนามไฮสปีดเทรน 3 สนามบินจะราบรื่น หรือมีเงื่อนไขอะไรให้ต้องยืดเยื้อไปอีกหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน