ไม้ผลพารวยยุค 5G เปิดสูตร “เกษตรอัจฉริยะ”

ไม้ผลพารวยยุค 5G เปิดสูตร “เกษตรอัจฉริยะ” – เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับ “งานเสวนาไม้ผลพารวยยุค 5G” ที่มีผู้คนมาฟังกันล้นห้องประชุมใหญ่สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด ประชานิเวศน์ 1 กทม. จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในโอกาสก้าวขึ้นสู่ปีที่ 32

งานนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติมาปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายของกระทรวงเกษตรฯกับเทคโนโลยีใหม่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร” ทำให้ได้รับรู้แนวทางการปฏิรูปกระทรวงนี้ ซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนช่วงต้นปีหน้า

นายอลงกรณ์ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯจะเป็นกระทรวงแรกที่เข้าสู่ยุค 5 G ในการเริ่มใช้ Big data อย่างสมบูรณ์ เริ่มจากโครงการ 1 กระทรวง 1 แอพพลิเคชั่น ที่รวมทั้ง 22 หน่วยงานไว้ในแอพฯเดียว และทุกหน่วยงานจะต้องมี 1 โครงการที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

อย่างเช่นการออกใบรับรองต่างๆ พร้อมนำระบบออนไลน์มาใช้ครอบคลุมการบริหารจัดการฟาร์มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งการเกษตรในยุคดิจิตอลเป็นการใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทางการเกษตรต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ ประมวลผล คาดการณ์ ตัดสินใจ โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์

หรือ AI มาช่วยสนับสนุน เพื่อสั่งการและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ

ขณะเดียวกันจะใช้กองทัพคนรุ่นใหม่ภาคเกษตรกรรม ที่มีทั้ง สมาร์ต ฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) และยังสมาร์ตฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) มากกว่า 12,000 คน ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้กระจายอยู่ทั่วประเทศมาเป็นทัพหน้าในการใช้เทคโนโลยียุค 5G และนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในการเกษตร ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯยุคนี้ที่เน้นใช้กลไกการตลาดนำการผลิต หรือเรียกว่านโยบายเกษตรพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง

นายอลงกรณ์บอกด้วยว่า หลายปีมานี้ผลไม้ทำเงินมีทุเรียน มังคุดและลำไย แค่ผลไม้ 3 ชนิดนี้ก็มียอดขายแสนกว่าล้านบาทแล้ว โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนไปขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสของจีนหลายเจ้า บางเจ้าสั่งซื้อทุเรียน 2 ล้านลูก และที่เพชรบุรีก็ปลูกกล้วยหอมส่งออกไปญี่ปุ่นมา 20 กว่าปีแล้ว ในขณะที่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยก็ถือว่าสุดยอด อย่างเช่น ทูน่ากระป๋องที่บริษัทคนไทยไปเทกโอเว่อร์บริษัทผู้ผลิตในยุโรป

วิทยากรอีกคนในซีกของกระทรวงเกษตรฯ คือดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ พูดหัวข้อ “เทคโนโลยียุค 5G เพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร” โดยหยิบยกประสบการณ์จริงที่นำเกษตรอัจฉริยะไปใช้ในนาข้าวของเกษตรกรที่จ.สุพรรณบุรี ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนเกษตรกรขอขยายพื้นที่มากขึ้น เริ่มตั้งแต่การปลูกข้าวด้วยรถดำนาที่ควบคุมการขับเคลื่อนด้วยพวงมาลัยอัตโนมัติ นำร่องด้วยGPS ทำให้ข้าวขึ้นเป็นแนวจรง ประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 60%

นอกจากนี้ยังได้ใช้เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำในนาร่วมกับการใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือของเกษตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำได้มากขึ้น และลดระยะเวลาการทำงานของเกษตรกรได้ 80% มีการใช้เครื่องตรวจปริมาณธาตุไนโตรเจนในใบพืช ทำให้สามารถใส่ปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืช และการใช้โดรนพ่นสารป้องกันกำจัด ศตรูพืช ทำให้เกษตรกรปลอดภัย ลดปริมาณการใช้น้ำในการฉีดพ่นลง 95% และเวลาในการฉีดพ่นสารลง 95% โดยกรรมวิธีเกษตรอัจฉริยะให้ผลผลิต 970 ก.ก./ไร่ ต้นทุนการผลิต 3,140 บาท/ไร่ ส่วนกรรมวิธีของเกษตรกรให้ผลผลิต 975 ก.ก./ไร่ ต้นทุนการผลิต 5,100 บาท/ไร่ ซึ่งกรรมวิธีเกษตรอัจฮริยะสามารถลดต้นทุนในการผลิตข้าวได้ 38.43%

ในส่วนนายประพันธ์ จิวะวงษ์ ผอ.ฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค มาให้ข้อมูลเรื่อง”ดีแทค สมาร์ทฟาร์มเมอร์” ว่า ความจริงดีแทคเข้าสู่วงการเกษตรมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเน้นเป้าหมายกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และพบว่าเกษตรกรรุ่นเก่าไม่ค่อยยอมรับเทคโนโลยี จึงมุ่งไปอบรมบรรดายังสมาร์ตฟาร์มเมอร์มากกว่าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ด้วย

ดีแทคได้สร้างแอพพลิเคชั่น “Farmer Info” ที่มีฟังก์ชั่น “บริการฟาร์มแม่นยำ” ให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศอย่างแม่นยำ แสดงผลเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝน และปริมาณฝนในพื้นที่ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สามารถพยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุดในประเทศไทย มีราคารับซื้อผลผลิตของตลาดต่างๆ อย่างเช่น ตลาดไท ช่วยให้เกษตรกรบริหารจัดการการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกษตรกรสามารถโหลดแอพฯนี้ไปใช้ได้ฟรี

ทีนี้ก็มาถึงซีกของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ขายทั้งประเทศและส่งออกด้วย เริ่มจาก “นางเสาวณี วิเลปะนะ” เจ้าของกล้วยหอมทองแบรนด์ “คิงส์ฟรุทส์” มาเปิดเผย “สูตรความสำเร็จกล้วยหอมทองร้อยล้าน”ว่า จากเดิมก็เป็นเกษตรกรปลูกส้มเขียวหวานและเปลี่ยนมาปลูกกล้วยหอมทองย่านรังสิต จ.ปทุมธานี ในพื้นที่ 30 ไร่ รวมเวลา 20 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อสามี เป็นธุรกิจในครอบครัว แต่พอเจอปัญหาขายในตลาดทั่วไปไม่ได้เงิน จึงพุ่งเป้าเข้าขายในห้างแทน กระทั่งเป็นรายใหญ่ที่ส่งกล้วยหอมทองให้ร้านสะดวกซื้อ ส่งให้การบินไทย และทางเกาหลีติดต่อจะขอซื้อกล้วยหอมเพราะชื่นชอบกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างจากกล้วยหอมคาเวนดิช หรือ “กล้วยหอมเขียว”

ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองกว่า 3,000 ไร่ และมีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 1,000ไร่ แปลงปลูกได้ GAP ส่วนโรงคัดบรรจุได้มาตรฐาน GMP และ HACCP มีแล็บสำหรับตรวจสอบสารเคมีที่ตกค้าง เพื่อกลั่นกรองผลผลิตก่อนนำสู่ผู้บริโภค และบริษัทยังมีหน่วยและพัฒนา เพื่อนำกล้วยหอมที่ไม่ได้เกรดมาแปรรูป โดยใช้นวัตกรรมผลิต “ผงชงดื่มเพื่อสุขภาพจากกล้วยหอม” ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง ในงาน Silicon Valley International Invention Festival 2018 (SVIIF 2018) สหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังผลิตแป้งกล้วยหอมด้วย รวมทั้งลงทุนวิจัยดีเอ็นเอกล้วยหอมทอง ซึ่งมีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

เกษตรกรอีกรายคือ นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้บริหารบริษัทเอ็นซีโคโคนัท จำกัด เจ้าของแบรนด์เอ็นซี โคโคนัท มาบอกเล่าประสบการณ์ในหัวข้อ “มะพร้าวน้ำหอมไทยไปนอกไม่ใช่เรื่องยาก” ว่า ตนเองนั้นเริ่มจากการเป็นชาวสวนมะพร้าวมาก่อน อยู่ที่อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และพัฒนาจนมาตั้งโรงงานแปรรูป นอกจากนี้ยังนำเปลือกมะพร้าวไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในกลุ่มชีวมวล ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทำทั้งมะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย น้ำมะพร้าวบรรจุขวด-กระป๋อง และวุ้นในลูกมะพร้าว ตลาดหลักมีที่สหรัฐอเมริกา จีน ในเอเชีย และสหภาพยุโรป

ปิดท้ายกันที่นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 มาให้ความรู้เรื่อง “ผลิตทุเรียนให้รวยอย่างยั่งยืน” ว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่ทำสวนทุเรียน ซึ่งเป็นไม้ผลทำเงิน ไร่ละเกิน 2 แสนบาท จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันเยอะ มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ส่งผลให้บางครั้งผู้บริโภคได้กินทุเรียนอ่อน ไม่มีคุณภาพ ปัจจุบันสวนทุเรียนเกิน 80% มีเครื่องหมาย GAP เพราะต้องส่งไปขายจีน และก็มีคู่แข่งเยอะไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรือเวียดนามที่หวังชิงตลาดไทยในจีน

การจะปลูกทุเรียนให้ได้คุณภาพนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าเป็นผลไม้ที่ต้องมีน้ำเพียงพอ ดังนั้นก่อนปลูกต้องวางแผนสวน และวางระบบน้ำให้ดี ส่วนดินสามารถบริหารจัดการและควบคุมได้

ด้านนายปริญญา นาคฉัตรีย์ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง วัย 78 ปี ซึ่งมาร่วมฟังงานเสวนาครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า เป็นงานเสวนาที่มีประโยชน์มาก เพราะทำให้ได้ความรู้เรื่องการปลูกทุเรียนว่าต้องเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ ตนเองสนใจเรื่องการปลูกทุเรียน โดยปลูกทุเรียนหมอนทองอยู่ในเนื้อที่ กว่า 10 ไร่ที่เขาใหญ่ และที่บางใหญ่อีก 2 ไร่ มีมะนาวและส้มโอด้วย แต่ทำเป็นงานอดิเรกเพื่อออกกำลังกาย ไม่ได้ทำเป็นการค้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน