น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ยอดส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2562) รวมทั้งสิ้น 1,165 โครงการ เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,048 โครงการ ขณะที่มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 314,130 ล้านบาท ลดลง 11% เนื่องจากในปี 2561 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป

“9 เดือนที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้วรวม 1,074 โครงการ มูลค่ารวม 274,340 ล้านบาท ช่วยสร้างงานให้คนไทย 59,052 ตำแหน่ง ส่งเสริมให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่า 454,322 ล้านบาทต่อปี และคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศ 507,368 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามี 689 โครงการ เงินลงทุน 203,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69% โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มียอดคำขอรับการส่งเสริม 167 โครงการ เงินลงทุน 59,187 ล้านบาท ตามด้วยอันดับ 2 คือ จีนมี 139 โครงการ เงินลงทุน 45,439 ล้านบาท และอันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ มี 15 โครงการ เงินลงทุน 11,710 ล้านบาท

โดยโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 585 โครงการ คิดเป็น 50% ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด มีมูลค่ารวม 185,710 ล้านบาท คิดเป็น 59% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณาในด้านจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุดจะอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิตอล และมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่โครงการที่ยื่นคำขอรับส่งเสริมเป็นโครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น 38% คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 36% และโครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ 26%

สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีช่วง 9 เดือนมี 360 โครงการ เพิ่มขึ้น 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 262 โครงการ เงินลงทุนรวม 167,930 ล้านบาท ลดลง 23% เนื่องจากปี 2561 มีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี ขณะที่การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีมีคำขอรับการส่งเสริม 43 โครงการ เพิ่มขึ้น 87% จากเดิมอยู่ที่ 23 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167% จากเดิมอยู่ที่ 880 ล้านบาท

น.ส.ดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบให้พื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารอีก 5 แห่ง หวังเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก ตามโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร

“โครงการในกิจการเป้าหมายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารจะได้รับสิทธิการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี หรือได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปีแล้วแต่กรณี นอกเหนือจากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-10 ปี ตามเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าต้องมีหัวจ่ายรวมไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย เป็นประเภทชาร์จแบบเร่งด่วน ไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนหัวจ่ายประจุไฟฟ้าทั้งหมดภายใต้โครงการ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการติดตั้งหัวจ่ายประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากขึ้น โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ทั้งยังได้อนุมัติให้ส่งเสริมโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 22,268 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีขนาดกำลังผลิต 560 เมกะวัตต์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน