นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า ไอเอ็มเอฟมองว่าประเทศไทยยังมีช่องว่าง และความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ หลังจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีหลายปัจจัยเข้ามากดดันทำให้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวลง ทั้งจากปัญหาสงครามการค้า การแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากยุโรป (เบร็กซิต) ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

“ไอเอ็มเอฟมองว่าไทยโชคดีที่มีพื้นฐานด้านมหภาคแข็งแกร่ง ทำให้ยังมีช่องว่างในการใช้เครื่องมือทั้งหมดทั้งในภาคการเงินและการคลังเพื่อดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ และต้องใช้อย่างทันการ ซึ่งในเรื่องนี้ทั้งคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าใจและเห็นตรงกันว่าไทยยังมีความสามารถที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีได้ ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมจะดำเนินการ แต่ก็ต้องมาดูว่าจะใช้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็จะดูแล กระทรวงการคลังยืนยันว่าจะไม่ก้าวก่าย ขณะที่ไอเอ็มเอฟเองก็เพียงเข้ามาเสนอแนะแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจ ไม่ได้ก้าวก่ายเช่นกัน” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการด้านการคลังนั้น ยอมรับว่าขณะนี้มีการศึกษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าไว้ แต่การนำมาใช้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย และจังหวะที่เหมาะสม โดยภาพรวมเศรษฐกิจในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลได้ออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ถือว่าดูแลเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ และยังมีผลดีต่อความเชื่อมั่นด้วย ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2562 มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศคึกคัก ส่วนจะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีในไตรมาส 4/2562 เติบโตได้เกิน 3% หรือไม่ ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาบุคคลากรภายในประเทศให้มีทักษะ และการยกระดับเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน