นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานยอดขายในช่วงไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 31,838 ล้านบาท หากไม่คำนึงถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแล้ว ยอดขายประจำไตรมาสลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า แต่ปริมาณการขายของบริษัทยังเข้มแข็งและเติบโตอยู่ที่ 3.8% จากธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งและแช่เย็นและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า กำไรขั้นต้นประจำไตรมาสอยู่ที่ 5,077 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 15.9% เมื่อเทียบกับ 15.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกับในปีก่อนหน้า ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปีมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงิน

ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 ยอดขายจากทวีปอเมริกาเหนือมีสัดส่วนถึง 38% ยอดขายจากทวีปยุโรป 31% ยอดขายจากประเทศไทย 13% และตลาดอื่นๆ 18% แม้ปริมาณการขายที่เติบโตถึง 3.8% แต่ไทยยูเนี่ยนรายงานยอดขาย อยู่ที่ 31,838 ล้านบาท ซึ่งลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินสกุลหลักๆ ในการค้าได้แก่ เหรียญสหรัฐลดลง 6.9% ปอนด์ลดลง 12% และยูโรลดลง 11%

สัดส่วนของยอดขายใน 9 เดือนแรกของปีนี้ เป็นสินค้าแบรนด์ของบริษัท 42% เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนหน้า และที่เหลือ 58% เป็นการผลิตสินค้าให้กับลูกค้าบริษัทต่างๆ

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมียอดขายอยู่ที่ 14,466 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาทูน่าที่ลดลง 17% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2561 และค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการค้าของโลก

ส่วนธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งและแช่เย็นมีปริมาณการขายอยู่ที่ 73,084 ตันในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นถึง 15.2% อย่างไรก็ดี ด้วยราคาของกุ้งที่ลดลง 9.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยอดขายของธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งและแช่เย็นลดลง 2% อยู่ที่ 12,768 ล้านบาท แต่อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น ในขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 6.9% อยู่ที่ 4,604 ล้านบาท อีกทั้งปริมาณการขายยังเติบโตขึ้นอีก 2.6%

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่หลายหลายของเราได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการขายของเราเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ดี ตลาดสกุลเงินที่ผันผวนทำให้สินค้าส่งของจากประเทศไทยต้องเจอกับสภาวะความท้าทาย ไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เล็งผลถึงการเติบโตในระยะยาว และพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดแรงกดดันในแง่ของการทำกำไร

ไทยยูเนี่ยนยังยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับการดำเนินงานของบริษัทฯ หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐ หลายรายการ นอกจากนี้ บริษัท จอห์น เวสต์ ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทในเครือ ยังได้ประกาศว่า ศาลได้ตัดสินให้บริษัทไม่มีความผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาว่าทำธุรกิจกับการประมงที่ผิดกฎหมายหรือไอยูยู คำตัดสินเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นอย่างดีว่าไทยยูเนี่ยนยึดมั่นในนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้ประกาศตั้งแหล่งเงินทุน Venture Fund เพื่อลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร เริ่มต้น 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลงทุนครั้งแรกกับฟลายอิ้ง สปาร์ค ผู้ผลิตโปรตีนทางเลือก อีกหนึ่งโครงการนวัตกรรมได้แก่ SPACE-F ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพ 24 บริษัทจากทั่วโลกเข้าโครงการ ภายหลังจากเปิดตัวความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในด้านความยั่งยืน ไทยยูเนี่ยนยังคงยึดมั่นในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนหรือ SeaChange ยังผลให้ในบริษัทได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ เป็นอันดับ 1 ในผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของโลก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ไทยยูเนี่ยนยังประสบความสำเร็จได้คะแนนสูงสุดที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ของอุตสาหกรรม สำหรับคะแนนด้านความยั่งยืนโดยรวม ปัจจุบันบริษัทติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

ในไดรมาสที่ 3 นี้ บริษัทยังได้ประกาศนโยบายล่าสุดในการป้องกันห่วงโซ่การผลิตอาหารจากการปลอมปนอาหารโดยเจตนา ด้วยระบบการจัดการที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับกลโกงอาหาร ในส่วนของการทำงานร่วมกับชุมชน บริษัทได้เปิดศูนย์เตรียมความพร้อมเด็กก่อนวัยเรียนไทยยูเนี่ยนแห่งที่ 4 อย่างเป็นทางการ สำหรับเด็กข้ามชาติในจ.สมุทรสาคร

บริษัทยังได้รับการยอมรับด้านการกำกับดูแลกิจการ นวัตกรรมและความยั่งยืน ในเวทีระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัล “ซีอีโอและบริษัทที่ดำเนินงานนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย ตั้งแต่ปี 2553″ จากงานนิตยสาร Asiamoney รางวัล “บริษัทมหาชนยอดเยี่ยมแห่งปี 2561” ในประเภทธุรกิจการเกษตรและอาหาร จากนิตยสารการเงินการธนาคาร รางวัล DRIVE Award 2019 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในประเภทอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร นายธีรพงศ์ จันศิริและนายยอร์ก ไอร์เลได้รับรางวัล ซีอีโอยอดเยี่ยมและซีเอฟโอยอดเยี่ยม ประจำปี 2562 จากนิตยสาร Global Banking & Finance Review และดร.แดเรี่ยน แมคเบน ได้รับการรางวัลสุดยอดสตรีแห่งเอเชียในด้านความยั่งยืนจาก CSRWorks International

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน