คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ทุบโต๊ะจ่อชงแบงก์ชาติปรับโครงสร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยน เตรียมร่อนหนังสือสัปดาห์หน้าขอจับเข่าคุยแก้ปัญหาระยะยาว

กกร.ทุบโต๊ะจ่อชงแบงก์ชาติ – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นพ้องกันว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ที่ควรต้องมีการปรับโครงสร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบกึ่งจัดการในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบนี้มานานมากแล้วตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ในช่วงที่ไทยมีปัญหาด้านการเงิน ฐานะการคลังตกต่ำ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีปัญหา พื้นฐานเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอยู่ในสถานะที่เข้มแข็ง ดังนั้นหากยังคงใช้ระบบเดิมอาจไม่เหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปแล้วก็ได้

“ภายในสัปดาห์หน้าภาคเอกชนจะทำหนังสือขอเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ามีมาตรการอะไรที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นในระยะกลางกับระยะยาวหรือไม่ หรืออาจถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องพิจารณาทบทวนการปรับโครงสร้างค่าเงินของไทยให้มีความเหมาะสม แต่คงไม่ต้องถึงขั้นกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ หรือระบบตะกร้าเงินที่อิงกับค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก เพราะขณะนี้ลำพังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้นไม่เพียงพอต่อการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้”

โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2562 เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 7.8% อยู่ที่ระดับ 30.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นค่าเงินบาทกลับไปเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวว่า ในระยะสั้น กกร. ยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่าง กกร. ธปท. กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันหาแนวทางดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยภาคเอกชนควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนไปยังธปท. ให้มีมาตรการลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่าโดยเร็ว เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า เช่น การเพิ่มระยะเวลาการพักเงินรายได้จากการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออกให้เร็วขึ้น เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนต้องเร่งบริหารต้นทุนและราคาด้วยการพัฒนายกระดับนวัตกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าใหม่ๆ ต่อเนื่อง รองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น เห็นได้จากไตรมาส 3/2562 การส่งออกหดตัวตามทิศทางเศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง ทำให้คำสั่งซื้อชะลอลง หากยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอาจสร้างผลกระทบต่อการจ้างงานและกำลังซื้อในประเทศเป็นวงกว้างมากขึ้นในอนาคต โดยตัวเลขการจ้างงานที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวดีว่าสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอาจเจรจากันได้ แต่ก็ยังคงต้องติดตามผลกระทบในระยะต่อไป อีกทั้งภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ควรเร่งเจรจากับสหรัฐก่อนถึงเงื่อนเวลาที่ไทยจะถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ขณะที่กระทรวงแรงงานควรต้องมีมาตรการดำเนินงานด้านแรงงาน พร้อมจัดทำระบบติดตามเฝ้าระวังสินค้าที่อาจถูกตัดสิทธิ

นายกลินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกกร. จึงมีมติคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 2.7-3% การส่งออกคาดอยู่ที่ติดลบ 2% ถึงโตได้ 0% และเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 0.8-1.2%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน