นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ว่า ทางกรมปศุสัตว์ได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องหลังจากการแบนสารทั้ง 3 ชนิด โดยอาจเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง ข้าวสาลี ที่เป็นวัตถุดิบหลักของอาหารสัตว์ จากประเทศที่ยังมีการใช้ 3 สารดังกล่าวอยู่

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ และส่งออกมายังไทยเช่น บราซิล สหรัฐ ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ หากไทยไม่มีเหตุผลเพียงพอ ก็อาจจะใช้วิธีการตอบโต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับอาหารและอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทั้งระบบ มูลค่านับล้านล้านบาท

ดังนั้นที่ประชุมจึงให้กระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ สาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมรับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยควรวิเคราะห์ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะดำเนินการได้และอาจกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย

ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องตรวจสอบดูแลร้านค้า และออนไลน์ขายสารเคมีทางด้านการเกษตรในระหว่างนี้ไม่ให้ขึ้นราคา หลอกขายสารเคมีตัวใหม่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ควบคุมราคาสารเคมีตัวใหม่ภายหลังจากวันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไปด้วย

ทั้งนี้เพราะมีความเป็นได้ที่ต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจทั้ง 6 ชนิด คือ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ จะเพิ่มขึ้นจากสารเคมีตัวใหม่ประมาณ 5-10 เท่าตัว ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และกรมวิชาการเกษตร ไปวิเคราะห์ต้นทุนใหม่ทั้งก่อนและหลังแบน 3 สารดังกล่าว โดยแต่ละสินค้าจะมีต้นทุนที่ต่างกันออกไป แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรทั้งรายใหญ่และรายย่อยนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้แนวทางชดเชยเยียวยา ในขั้นตอนต่อไป โดยจะสนับสนุนทำแปลงใหญ่ ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด

“พืชทั้ง 6 ชนิดมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพื่อขอใช้สารก่อนหน้านี้ 1.7 ล้านราย อาจไม่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เช่น ยางพาราที่โตแล้วอาจไม่ต้องใช้ก็ได้เพราะหญ้าไม่ขึ้น ส่วนจะมีการเปลี่ยนมติแบนหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดใหม่”

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ที่ประชุมให้กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดเรื่องการลักลอบการนำเข้าสารทั้ง 3 ชนิดภายหลังวันที่ 1 ธ.ค.นี้ด้วย เนื่องจากการนำมาใช้หรือมีไว้ในครอบครองจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนสารเคมีที่ค้างในสต๊อกขณะนี้ตามรายงานพบว่ามีทั้งสิ้น 2-3 หมื่นตัน คาดว่าในวันที่ 1 ธ.ค. จะเหลืออยู่ประมาณ 200 ตัน จากปริมาณการนำเข้าประมาณปีละ 1.7 แสนตัน

“สารเคมีที่ค้างอยู่หากในมือผู้ประกอบการอาจใช้วิธีการส่งคืนประเทศต้นทาง เพราะไทยไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว ส่วนที่อยู่ในมือเกษตรกรต้องส่งมาเก็บและทำลายโดยกรมวิชาการเกษตร”

สำหรับต้นทุนค่าจ้างในการกำจัดวัชพืชต่อไร่ ต่อ 1 ฤดูกาลปลูกอ้อย ใช้แรงงานดายหญ่าอย่างเดียว 3,600 บาทต่อไร่ ใช้สารกำจัดก่อนงอก และดายหญ้า 1 ครั้ง 1,500 บาทต่อไป ใช้สารกำจัดก่อนงอก และพาราควอต 1 ครั้ง 450 บาทต่อไร่ ใช้สารกำจัดก่อนงอก กับไกลโฟเชต 1 ครั้ง 450 บาทต่อไร่ ใช้สารกำจัดก่อนงอก กับกลูโฟซิเนต 1 ครั้ง 850 บาทต่อไร่ ใช้จอบหมุนพ่วงท้ายแทรกเตอร์ 1,900 บาทต่อไร่ แต่ต้องเป็นพื้นที่เหมาะสมเท่านั้น

ข้าวโพด ใช้แรงงานดายหญ้า 2 ครั้ง มีต้นทุน 2,400 บาทต่อไร่ ใช้สารกำจัดวัชพืชก่อนงอก 300 บาทต่อไร่ ใช้พาราควอต 2 ครั้ง 300 บาทต่อไร่ ใช้ กลูโฟซิเนต 2 ครั้ง 1,100 บาทต่อไร่ และใช้รถไถพรวนระหว่างแถว 1 ครั้งร่วมกับการดายหญ้าในแถว 1 ครั้ง 1,550 บาทต่อไร่

ยางพารา การตัดหญ้า 3 ครั้งต่อปี 1,990 บาทต่อไร่ พาราควอต 3 ครั้งต่อปี 1,090 บาทต่อไร่ สำหรับอัตราค่าจ้างแรงงานดายหญ้า 4 คนต่อไร่ 1,200 บาท ต่อสารกำจัดวัชพืชก่อนงอก 300 บาท พาราควอต ไกลโฟเซต หลังวัชพืชงอก 150 บาท กลูโฟซิเนต หลังวัชพืชงอก 550 บาท และจอบหมุนพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ หรือรถพ่วงท้ายคราดสปริง 350 บาทต่อไร่ ต่อครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน