นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.สัญจร จังหวัดกาญจนบุรี เห็นชอบข้อเสนอของการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี) ตามมติที่ประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวม 6 ด้าน ครอบคลุมการเกษตร ท่องเที่ยว บริหารจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงขอรับการสนับสนุนเชิงนโยบายอีก 4 เรื่อง โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปดำเนินการต่อ แต่ต้องดูให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการเร่งด่วนเป็นอันดับแรก

ทั้งนี้ ตามข้อเสนอดังกล่าว หากนับเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะมีโครงการที่เสนอให้พิจารณารวม 10 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 6,264 ล้านบาท โดยมีโครงการใหญ่ คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว – บรรจบทางหลวงหมายเลข 3510 ระยะทาง 36.8 กม. เป็น 4 ช่องจราจร วงเงินงบประมาณ 3,042 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นวงเงินค่าก่อสร้าง 2,650 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อเวนคืนที่ดิน 392 ล้านบาท โดยปี 2564 จะดำเนินการออกแบบ ปี 2565 เริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดิน ปี 2566 เริ่มดำเนินการก่อสร้าง และปี 2568 เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ส่วนที่เหลือเป็นการขยายช่องจราจรจาก 2 ช่อง เป็น 4 ช่องจราจรในหลายเส้นทาง ครอบคลุม 3 จังหวัด

ส่วนด้านอื่นๆ มีโครงการสำคัญ เช่น ด้านการเกษตร มีโครงการพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน และโครงการการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยนวัตกรรมชุมชนเพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรไปสู่เชิงพาณิชย์ ด้านการท่องเที่ยว มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาเมืองเก่ากาญจนบุรีและสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยแควใหญ่ โดยที่ประชุมเร่งรัดการขอใช้พื้นที่และการบริหารจัดการเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำโดยการปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณดงบัวและบึงบัวก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กต่อจากสะพานสมเด็จพระสังฆราช – บึงบัว ระยะทาง 165 เมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเทียบเรือขุนแผนปรับปรุงภูมิทัศน์และท่าเทียบเรือ เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ ออกแบบและก่อสร้างจุดชมวิว ทางเดินลอยฟ้า รวมทั้งออกแบบและก่อสร้างหอคอยชมวิวแม่น้ำสามสาย รวมถึงก่อสร้างเส้นทางพุทธธรรม ปรับปรุงภูมิทัศน์พุทธมณฑล เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน

นอกจากนี้ ยังรับทราบข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งการปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งนายกฯ ได้สั่งให้ไปปรับรูปแบบเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน และยังรับทราบการศึกษาแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ฝั่งตะวันตก ดับบริวอีซี และสนับสนุนการท่องเที่ยว การศึกษาเพื่อเชื่อมโยงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการค้าขายแดน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ และเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของจีเอ็มเอส การศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวอุทยานเขางู จังหวัดราชบุรี ด้วย

นายธีรชัย ชุติมันต์ กรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 กล่าวว่า ในภาพรวมของการประชุมร่วมกับนายกฯ นั้น ภาคเอกชนก็พึงพอใจ และต้องการให้นายกฯ จัดการประชุมในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้แต่ละโครงการที่เสนอไปนั้นสามารถผลักดันออกมาได้สำเร็จ เหมือนในช่วงรัฐบาลก่อนๆ ที่เคยมาประชุมกับภาคเอกชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะเห็นชอบในหลักการของหลายโครงการไปแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่ภาคเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลช่วยผลักดัน เช่น การเปิดจุดผ่อนปรนบริเวณด่านชายแดนเจดีย์สามองค์ เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุน ให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน