นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “3 ปี อีอีซีขับเคลื่อนเศรษฐกิจถึงฝั่งฝัน” ในงานสัมมนา “EEC NEXT:ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC” ว่า ขณะนี้กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศเข้มแข็งขึ้น ช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการออกมาเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะเป็นแพ็กเกจเพื่อสนับสนุนให้ได้ทุกภาคส่วนและให้มีการช่วยเหลือประชาชนในวงกว้าง ทั้งการอุปโภคบริโภค การพัฒนาแรงงาน ด้านอสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว

“ล่าสุดคลังได้ติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลาคาดจะมีความเป็นไปได้ที่มาตรการจะออกมาก่อนสิ้นปีนี้ และถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ได้ แต่ทั้งหมดต้องผ่านการนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน โดยจะสนับสนุนด้านใดนั้นต้องดูถึงความจำเป็นด้วย”นายอุตตม กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น ปัจจุบันนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความสนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น อาทิ กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการดูแลสภาพแวดล้อม การกำจัดของเสีย/อากาศ ธุรกิจที่รองรับผู้สูงอายุ ธุรกิจการเงินตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค คาดว่าบางราย/บางกลุ่มธุรกิจอาจสามารถลงนามได้ภายในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนเห็นความจริงจังในการทำงานของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การขับเคลื่อนกลไกต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งเดินหน้า ได้แก่ การศึกษา และการพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยล่าสุดได้หารือร่วมกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ถึงแนวทางพัฒนารูปแบบการศึกษาระดับอาชีวะให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งขณะนี้กำลังดูเรื่องงบประมาณสนับสนุนว่าจะเป็นอย่างไร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายลงพื้นที่อีอีซี” ว่า การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความคืบหน้าหน้าไปมาก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมและจัดหาที่ดินสำหรับรองรับนักลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 5,000 ไร่ จากปัจจุบันมีที่ดินพร้อมลงทุนแล้วประมาณ 6,466 ไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1 หมื่นไร่ อีกทั้งยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ อำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจแก่นักลงทุน (Thailand Plus Package)

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในมิติรายสาขาอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้มีการย้ายฐานการผลิตรถไฟและรถไฟฟ้ามาที่ประเทศไทย โดยอาศัยกลไกการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งหากสามารถสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตระบบขนส่งมวลชนทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศสำเร็จ คาดจะก่อให้เกิดการลงทุนและมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดได้ทยอยลงนามร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,000 ไร่ โดยมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด มูลค่าโครงการประมาณ 47,900 ล้านบาท โดยหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติและสินค้าด้านปิโตรเคมีได้เพิ่มอีกประมาณ 14 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม ภายในปีหน้าโครงการอื่นๆ ทั้งการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังที่จะถูกยกระดับให้สามารถขนส่งสินค้าได้มากขึ้น และคงจะได้มีการลงนามในสัญญาต่อไป สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการต้องฉีดยาแรง ไม่สามารถหวังให้เรียนภาษาได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยกระทรวงตั้งเป้าหมายให้ระดับอาชีวศึกษาในปีการศึกษาใหม่เพิ่มหน่วยกิตวิชาภาษาต่างประเทศ เพื่อเพิ่มทักษะให้เป็นแรงงานฝีมือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน