นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยจากการได้นำคณะสื่อมวลชนตามติดนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศสเปนและโปรตุเกส ว่า กฟผ. ให้ความสำคัญการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายเอ็นเนอร์ยี ฟอร์ ออล (Energy for all) ของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ราคามีความเหมาะสม รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานมาปรับใช้อย่างสอดรับกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคตที่กำลังไปสู่ระบบไฟฟ้า เจนเนอเรชั่นที่ 2 คือ พลังงานหมุนเวียน อย่าง ลม แดด และชีวมวล หรือ ขยะ จากปัจจุบันเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 1 ระบบไฟฟ้า จาก น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน”

สำหรับการศึกษาดูงานในสเปนได้ศึกษาดูงานเกี่ยวนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มี Valle 1 and Valle 2 Concentrated Solar Power Plants โดยนำกระจกรูปทรงพาราโบล่าสะท้อนรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ จากนั้นความร้อนจะถูกเก็บสะสมไว้ในเกลือ ซึ่งสามารถกักเก็บพลังงานได้ถึง 7.5 ชั่วโมง ผลิตไฟฟ้าได้ 320 ล้านหน่วยต่อปี

ส่วนที่โปรตุเกสศึกษาดูงานศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (EDP Renewable Dispatch Center) ของบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งโปรตุเกส (Energias de Portugal : EDP) เป็นรายใหญ่ที่บริหารจัดการควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในโปรตุเกส และยุโรป

โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มศึกษาการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากข้อมูลสภาพอากาศ การพยากรณ์ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ตำแหน่งของโรงไฟฟ้า ข้อมูลความเร็วลม ทิศทางลม และข้อมูลสถิติในอดีต โดยในปี 2561 – 2562 ได้นำร่องศึกษากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้นำร่องระบบกักเก็บพลังงานที่ผลิตได้จากกังหันลมมาเก็บไว้ในรูปแบบไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid) เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะนำก๊าซไฮโดรเจนไปผ่านเซลล์เชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา

รวมถึงการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง เนื่องจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงทั้งสองแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ที่มีพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เตรียมพร้อมให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าทันสมัยมากขึ้น (Grid Modernization) มีความมั่นคง เชื่อถือได้ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 1 ก.ค.2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน