ทูตเกษตรไทยย้ำความสำเร็จและบทบาทของไทยด้านประมงยั่งยืนและการสร้างความมั่นคงอาหารบนเวทีโลก ก่อนปิดฉากการประชุมระดับโลกด้านการประมงอย่างยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่ เอฟเอโอ กรุงโรม เมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

ภายหลังจากที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศนโยบายผลักดันประมงยั่งยืน พร้อมเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจใหม่บลูอีโคโนมี (Blue Economy) และร่วมมือนานาชาติต่อต้านประมงไอยูยู ในการประชุมที่ เอฟเอโอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นั้น

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (FAO/IFAD/WFP) ณ กรุงโรม ได้ขึ้นเวทีกล่าวปิดการประชุมในฐานะประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลกของสหประชาชาติ (Chairperson of the UN Committee on World Food Security หรือ CFS) ร่วมกับ นางมาเรีย เฮเลนา เซเมโด รองผู้อำนวยการใหญ่เอฟเอโอ (FAO Deputy Director General) ในเวทีการประชุมระดับโลกด้านการประมงอย่างยั่งยืน (FAO International Symposium on Fisheries Sustainability) ณ สำนักงานใหญ่ เอฟเอโอ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี

นายธนวรรษ เทียนสิน ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ FAO ในการจัดงานเฉลิมฉลอง “วันประมงโลก” (World Fishery Day) ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 21 พฤศจิกายน เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วโลกได้เห็นถึงความสำคัญของการประมง และความสำเร็จในการจัดงานประชุมระดับโลกด้านการประมงอย่างยั่งยืนครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 800 คนจากทั่วโลก ประกอบด้วย ผู้แทนของประเทศสมาชิกเอฟเอโอ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบาย ได้มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อปฏิรูปและกำหนดแนวทางในการพัฒนาภาคประมงไปสู่ความยั่งยืน

นายธนวรรษ ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรพันธุกรรมของสัตว์น้ำ และทรัพยากรทางทะเล เพราะหากเราปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสำคัญก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารของโลก เพราะปลาและอาหารทะเล เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญและมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จากข้อมูลในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการบริโภคปลาของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 17 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 27 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ในฐานะประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก นายธนวรรษ ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกและผู้เข้าร่วมประชุม ร่วมกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล สังคมและเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีมาตรการการป้องกัน การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลร่วมกันอย่างจริงจัง รวมทั้งนำนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และข้อแนะนำต่างๆ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ไปปฏิบัติในระดับประเทศต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goalsหรือ SDG) โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาความอดอยากหิวโหยและการขาดแคลนสารอาหาร (SDG ข้อ2 Zero Hunger) โดยในช่วง 2-3 ปีต่อไปนี้ คณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก จะเร่งขับเคลื่อนแผนงานและจัดทำนโยบาย (Workstream) ด้านการส่งเสริมบทบาทของเยาวชน (Youth) การพัฒนาระบบข้อมูล (Data System) บทบาทของสตรีและความไม่เท่าเทียมกัน (Women หรือ Gender Inequality) ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารและด้านการประมงยั่งยืน

นายธนวรรษ ได้กล่าวทิ้งท้ายเรียกร้องให้ทุกประเทศจับมือร่วมกันเพื่อขจัดปัญหาความอดอยากหิวโหยและการขาดแคลนสารอาหาร และรักษาสมดุลของทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน