นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานในที่ประชุมว่าจะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับใช้การยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ออกไป อีก 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีระยะเวลาสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ขณะนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทยกว่า 20,000 ตัน

ซึ่งตรงนี้ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตรหารือในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะใช้วิธีเลื่อนการแบน หรือจะใช้กำหนดการแบนเดิมที่ วันที่ 1 ธ.ค. 2562 แต่ให้มีไว้ครอบครองได้หลังประกาศในราชกิจการนุเบกษาอีก 6 เดือน โดยเชื่อว่าปริมาณ 3 สารที่มีอยู่ในไทยจะหมดไปได้

“ที่กรมวิชาการเกษตรมารายงานตรงนี้ เพราะในการประชุมครั้งก่อน ผมสอบถามไปว่ายังมีปริมาณ 3 สารเคมีอยู่เท่าใด ในตอนนั้นระบุว่ายังคงเหลือ 38,000 ตัน เลยเสนอแนวทางไปให้ปรับวิธีการจัดการ ตอนนั้นผมเสนอให้ย้อนศรกลับไปยังประเทศ ที่นำเข้ามา ซึ่งจากการหารือแล้วการย้อนศรออกไปก็ทำได้ ถ้าเป็นวัตถุอันตรายที่ยังเป็นสารขั้นต้น แต่ถ้านำมาทำเป็น finished Product หรือสารขั้นปลายจะส่งออกไปไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศใช้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นในวันนี้กรมวิชาการเกษตรเสนอมาว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับแบนออกไปอีก 6 เดือน”

นายอนันต์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม งานหลักของคณะกรรมการชุดนี้คือการรองรับผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าถ้ามีการแบ่งวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะมีผลกระทบอะไรบ้าง และจะเยียวยาและชดเชย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ประมาณเท่าไหร่ โดยให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการเข้ามา แต่ในที่ประชุมถกเถียงกันและให้กลับไปทำใหม่ แต่ข้อเสนอที่มีมาเบื้องต้นรัฐต้องใช้เงินชดเชยให้เกษตรกร 32,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมร่วม 600,000 ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ 5 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา ทำหนังสือมาให้ไทยแจ้งรายละเอียดของการแบน 3 สาร พร้อมทั้งให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันการตกค้างของสารเคมี ในผลผลิตด้านการเกษตร จนนำมาซึ่งการแบน 3 สาร ซึ่ง 5 ประเทศที่ส่งหนังสือมาถึงไทย เพื่อขอให้ไทยชี้แจงรายละเอียด ของการแบน เพราะตามระเบียบสากลของโลก หรือตามระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) หากจะมีการแบนสารเคมีใด ประเทศที่ดำเนินการแบนต้องส่งหนังสือแจ้งกับประเทศสมาชิก ก่อน 60 วัน ซึ่งเงื่อนเวลาที่จะแบน 1 ธ.ค. ไม่ถึง 60 วัน หลายประเทศบอกว่าไทยทำผิดกติกาสากล

นอกจากนี้ ทั้ง 5 ประเทศ ก็กังวลว่าจะไม่สามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตร อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เป็นต้น มายังประเทศไทยได้

“ต่างประเทศส่งหนังสือถึง มกอช. เรื่องผลกระทบหากไทยแบน 3 สาร จะกระทบการส่งออกของเขามายังประเทศไทย ซึ่งจะต้องนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ยอมรับว่า หากแบน 3 สาร ทันทีในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 นักวิชาการ เอกชนและเกษตรกรก็ช็อก เพราะเดิมคิดว่า อยู่ระหว่างการจำกัดปริมาณการใช้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยอมรับว่าการประกาศยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 และนำไปสู่การแบน ในวันที่ 1 ธ.ค. นั้น สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปศุสัตว์เพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมน้ำมันพืช มาม่า ทุกยี่ห้อทำจากแป้งสาลี ก็จะไม่สามารถนำเข้ามาผลิต หรือแม้แต่นำมาเพื่อจำหน่ายได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน