เมื่อเวลา 16.10 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่รัฐสภา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) แถลงภายหลังเข้าชี้แจงกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ถึงกรณีการจ่ายค่าชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า หลังจากตนเข้ารับตำแหน่งรมว.คมนาคม วันที่ 31 ก.ค. ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษากรณีการจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ โดยได้รับข้อมูลจากผู้ที่หวังดีต่อประเทศชาติ เพราะเกรงว่าการจ่ายเงินให้โครงการดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง และมีข้อพิรุธหลายประการที่หน่วยงานของรัฐไม่นำไปเป็นคู่ต่อสู้คดีที่ผ่านมา

ซึ่งคณะทำงานได้ศึกษารายละเอียดโครงการอย่างรอบคอบ พบพิรุธทั้งหมด 9 ข้อ คือ 1. วันที่ 6 ต.ค. 2532 รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติ ครม. 2. วันที่ 16 ต.ค. 2532 การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวดเร็วผิดปกติ และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าตามหลักการที่เป็นมติ ครม. 3. วันที่ 15 ม.ค. 2533 มีการแทรกแซงรายละเอียดโครงการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น และคณะกรรมการฯ มีการเอื้อประโยชน์ให้โฮปเวลล์-ฮ่องกง 4. วันที่ 31 พ.ค. 2533 โฮปเวลล์-ฮ่องกง เสนอเงื่อนไขไม่ตรงตามประกาศของคณะกรรมการ 5. วันที่ 6 ก.ค. 2533 มีความผิดปกติในการร่างสัญญาสัมปทานและการลงนามในสัญญาสัมปทาน 6. เดือนส.ค.-พ.ย. 2533 มีการเอื้อประโยชน์ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และหลีกเลี่ยงการใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 (ปว.281) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 7. วันที่ 9 พ.ย. 2533 การลงนามในสัญญาสัมปทานไม่เป็นไปตามมติ ครม. 8. วันที่ 4 ธ.ค. 2533 มีการรายงานเท็จต่อ ครม. และ 9. บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าทั้ง 9 ข้อพิรุธเป็นข้อมูลใหม่ที่จะฟ้องต่อศาลให้กลายเป็นโมฆะเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเงินแผ่นดิน หรือค่าโง่ จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต่อสู้เรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยตนได้นำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อนายกฯ เพื่อให้รับทราบ โดยนายกฯ กำชับให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้ศึกษาควบคู่ไปด้วย

ส่วนขั้นตอนในการดำเนินคดี การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งเอกสารทั้งหมดให้กรมพัฒนาธุกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เพิกถอนบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นโมฆะในการเป็นคู่สัญญาของโครงการ ซึ่งมีเวลาพิจารณาภายใน 30 วัน หากเพิกเฉยก็จะร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งต่อไป ซึ่งในระหว่างนี้จะไม่มีการบังคับคดีให้ชดเชยค่าเสียหาย ขณะเดียวกันก็เตรียมยื่นเอกสารทั้งหมดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการเอาผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา รวมถึงยกเป็นคดีพิเศษ เพราะมีหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน