นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยถึงกรณีน.ส.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ปรึกษาหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานผู้เชี่ยวชาญ ด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โพสต์ข้อความขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายผ่านเฟซบุ้ค เนื่องจากมีความเห็นแย้งกับผลการประชุมเมื่อวานนี้ (27 พ.ค. 2562) ที่มีมติเลื่อนการยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช 2 ชนิดออกไป 6 เดือน ว่าส่วนตัวรู้สึกแปลกใจ เพราะตนให้ที่ประชุมช่วยกันเสนอมติเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และได้ถามย้ำหลายครั้งว่ามีใครคัดค้านหรือไม่ ซึ่งบรรยากาศในห้องประชุมขณะนั้นยืนยันว่าไม่มีใครคัดค้าน

“โดยเฉพาะคุณจิราพรเองเป็นคนเดินไปให้ฝ่ายเลขานุการแก้ไขข้อมูล และผมได้ถามย้ำหลายครั้งแล้วว่ามีใครคัดค้านไหม ในห้องไม่มีใครคัดค้าน มีเพียงกรรมการ 3 ท่านที่ตั้งข้อสังเกตว่าอยากให้ขยายเวลาการแบนออกไป เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาข้อมูลเพื่อหามาตรการรองรับให้รอบด้านและครบถ้วนกว่านี้”

นายสุริยะ กล่าวว่า ระหว่างการประชุมเปิดโอกาสให้กรรมการทุกท่านมีการเสนอข้อมูลเต็มที่โดยไม่ปิดกั้นเพื่อร่วมกันรับฟัง/หารือและพิจารณาข้อมูลจากตัวแทนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ที่เสนอกันมาด้วยความรอบคอบ รวมถึงขั้นตอนการเสนอมติร่วมกันจากข้อมูล ข้อเท็จจริงและสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน จนกระทั่งมีการช่วยกันร่างข้อมูล

“คณะกรรมการทุกท่านช่วยกันร่วมร่างและเลขานุการเป็นคนพิมพ์มติในห้องประชุม โดยที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นและร่วมกันร่างจนได้ออกมา ซึ่งมติที่คณะกรรมการเห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ และไม่มีใครคัดค้าน ดังนั้นจะบอกว่าไม่เห็นด้วยหลังจากประชุมไม่ได้ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อออกนอกห้องประชุม ทำไมจึงเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น”

ด้านน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27พ.ย. ที่ให้ยืดระยะเวลาการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ไปอีก 6 เดือน ในขณะที่ไกลโฟเซส ให้จำกัดการใช้ นั้นยังไม่เป็นมติ เนื่องจากในที่ประชุมไม่มีการโหวตให้ลงมติ

ดังนั้นการจะให้กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามที่นายสุริยะ แถลงไปนั้นต้องมีหนังสือแจ้งมาอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม การยืดการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไป 6 เดือนนั้น ก็ไม่สามารถนำเข้าสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสได้ เนื่องจากสต๊อกยังมีอยู่ เมื่อ 28 พ.ย. ได้เรียกกรมวิชาการเกษตรมาให้นโยบายไปเรื่องนี้ไปแล้ว ส่วนจะให้อะไรบางนั้นยังไม่ขอบอกตอนนี้ต้องรอดูก่อน

“กรณีที่จะยกกรมวิชาการเกษตรให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ กลับไปดูแลนั้น ดิฉันข้อย้ำว่าใครที่สามารถดูแลและสั่งการกรมวิชาการเกษตรได้มากกว่า ดิฉันก็ยินดี สุดแล้วแต่ ก็เอาไปเลยค่ะ ยินดี แต่ตอนนี้ต้องรอดูหนังสือจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่ามีมติอย่างไร ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้อยู่ดูมั๊ย ซึ่งเรื่องนี้คงไม่สอบถามหรือ ไปหารือกับ รมว.เกษตรฯ เพราะหากรมว.เกษตรต้องการเรียกหารือก้เรียกได้เสมอ”

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรกรณีต้องเลิกการใช้สารเคมีนั้น เบื้องต้นได้หารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร แล้วโดยใก้ฝ่ายวิศวกรรมของกรมวิชาการเกษตรออกแบบเครื่องจักรทำลายวัชพืชของพืชแต่ละชนิดที่มีแปลง ขนาดแปลง และ ลักษณะของพืชต่างกันออกไป แล้วนำไปให้สหกรณ์ซื้อเพื่อปล่อยเช่าให้เกษตรกร หมุนเวียนกันใช้จะได้ประหยัดต้นทุน ทั้งหมดนี้คิดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ได้คิดที่จะนำสารเคมีมาทดแทน เพราะทุกอย่างต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเป็นหลัง

ด้าน นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ที่ปรึกษารมช.เกษตรฯ กล่าวว่า เนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ยังไม่มีตามกฎหมายดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาถือปฏิบัติได้ ในขณะเดียวกันมติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 ที่ให้แบนสารทั้ง 3 ชนิดตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ยังไม่สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้เช่นกัน เนื่องจากยังไม่ประกาศราชกิจจา และเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ เป็นประธานซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก และไม่มีการรับรองการประชุมครั้งก่อน

ดังนั้นมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ถูกต้องและถือปฏิบัติในวันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป คือ มติการประชุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่ให้จำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยให้กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียนทั้งเกษตรกร ร้านค้า และผู้รับจ้างพ่นสารเคมี โดยปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว 4 แสนราย และผ่านการอบรมและมีบัตรยืนยันแล้ว กว่า 3 แสนราย

สำหรับผลการประชุมที่นายสุริยะ นั้นในช่วง 6 เดือนนี้ยืดไว้เพื่อให้จัดการสต๊อกที่ค้างอยู่ประมาณ 2.3 หมื่นตัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ประกอบการ จะได้ไม่เสียเงินเพื่อทำลาย แต่หาทางระบายให้หมดไปในช่วงเวลานี้ ส่วนเกษตรกรคาดว่าจะมีไม่เยอะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน