ย่ำ‘สเปน’-ตระเวน‘โปรตุเกส’ ‘กฟผ.’ศึกษาพลังงานทางเลือก

ย่ำ‘สเปน’-ตระเวน‘โปรตุเกส’ ‘กฟผ.’ศึกษาพลังงานทางเลือก – เมื่อทิศทางพลังงานโลกกำลังเปลี่ยนมาสู่ เจเนอเรชั่น 2 เป็นยุคที่ไฟฟ้าผลิตจาก “พลังงานหมุนเวียน” อย่าง ลม แดด น้ำ และขยะ ที่เปลี่ยนผ่านมาจากเจนเนอเรชั่น 1 ซึ่งผลิตด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

ประเทศไทยกำลังทรานฟอร์มจากยุคแรกไปสู่ยุคสอง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย ‘เอ็นเนอร์ยี ฟอร์ ออล’ (Energy for all) ของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการ นำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม

ทีมผู้บริหารกฟผ.

‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ (กฟผ.) ในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพ ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ให้ความสำคัญการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ควบคุมและสั่งการการผลิตไฟฟ้า

เพื่อให้เข้าใจระบบบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. พร้อมด้วยนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รอง ผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และนายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ

จึงนำสื่อมวลชนไทยเดินทางไปศึกษานวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ประเทศสเปน และโปรตุเกส ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการบริหารจัดการพลังหมุนเวียนได้ดีของโลก

ในประเทศสเปนดูงานเกี่ยวกับนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ ที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ Valle 1 and Valle 2 Concentrated Solar Power Plants ของ บริษัท Torresol

ที่นี่เป็นโรงไฟฟ้านำกระจกรูปทรงพาราโบล่า สามารถปรับเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ได้ด้วยระบบไฮดรอลิก สะท้อนรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์

จากนั้นความร้อนจะถูกเก็บสะสมไว้ในเกลือเหลว (Molten Salt) สามารถกักเก็บพลังงานได้ถึง 7.5 ชั่วโมง ทำให้จ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่องแม้ในช่วงไม่มีแสงอาทิตย์

โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็น 50 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง ผลิตไฟฟ้าได้ 320 ล้านหน่วยต่อปี จ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนได้ 40,000 ครัวเรือนต่อโรง รวม 2 โรง 80,000 ครัวเรือน

ช่วงฤดูร้อนจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพมากกว่าฤดูอื่น โดยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในฤดูร้อนประมาณ 80% ในขณะที่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในฤดูหนาวจะคิดเป็นประมาณ 20% ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งปี

พัฒนา แสงศรีโรจน์

นายพัฒนากล่าวว่า กฟผ.มีเป้าหมายนำพลังงานแสงอาทิตย์มา สร้างเป็นพลังงานไฟฟ้า เพราะไทยมีศักยภาพที่ดีด้านแสงอาทิตย์ สำหรับที่นี่ทำเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ ที่ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานแบบเกลือเหลวสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง

ที่ผ่านมาเรารู้จักแต่โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ (PV) ที่จ่ายไฟได้ 6-10 ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนแบบ PV จะถูกกว่า 3 เท่า แต่ยังต้องรอการพัฒนาให้กักเก็บพลังงานได้นานขึ้นในอนาคต ซึ่งเราสนใจแบบ PV นำไปใช้ร่วมกับเขื่อน ทำเป็นแบบไฮบริด สามารถขายไฟฟ้าได้ในราคา 2.4-2.5 บาทต่อหน่วย

ส่วนที่โปรตุเกสศึกษาดูงานศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (EDP Renewable Dispatch Center) ของบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งโปรตุเกส ที่เมืองลิสบอน ทำหน้าที่จัดหาพลังงานไฟฟ้า และก๊าซให้กับลูกค้ามากกว่า 10 ล้านคน ใน 15 ประเทศทั่วโลก

พร้อมกันนี้ศึกษางานที่บริษัท EDP Renewables (EDPR) บริษัทในเครือของบริษัท EDP ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ของโลก มีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานลมรวมทั้งหมดใน 14 ประเทศหลายทวีปทั่วโลก

มีศูนย์ควบคุม และสั่งการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบเรียลไทม์ ทั้งหมด 5 ศูนย์ในโปรตุเกส สเปน โรมาเนีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา

ทั้งยังมีภารกิจสำคัญในการวิเคราะห์ และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบเรียลไทม์ รวมถึงรับผิดชอบดูแลเรื่องการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Forecast) ซึ่งจะมีการอัพเดต 4 ครั้งต่อวัน ที่โดยปกติแล้ว การ Forecast ล่วงหน้า 72 ชั่วโมงจะมีความแม่นยำถึง 95%

กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาศูนย์ควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Control Center) ปัจจุบันเริ่มศึกษาการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) จากข้อมูลสภาพอากาศ การพยากรณ์ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ตำแหน่งของโรงไฟฟ้า ข้อมูลความเร็วลม ทิศทางลม และข้อมูลสถิติในอดีต

นอกจากนี้คณะกฟผ. ยังไปดูโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์จากเขื่อนที่มีอยู่ในโปรตุเกส เมือง บราก้า พื้นที่ที่มีฝนตกมากที่สุดของโปรตุเกส ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบสูบกลับ แต่ละเครื่องสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ระหว่าง 300-390 เมกะวัตต์

วัตถุประสงค์หลักที่สร้างโรงไฟฟ้านี้ เพื่อใช้เสริมระบบไฟฟ้า แก้ไขปัญหาเรื่องความผันผวนและไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลม

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์

นายเทพรัตน์กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเป็นแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานชนิดหนึ่ง ข้อดีคือสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้รวดเร็ว เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถปล่อยน้ำ และผลิตไฟฟ้าได้ทันที

อีกทั้งช่วยรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งยังขาดเสถียรภาพและมีความไม่แน่นอน เป็นตัวเลือกสำคัญในการช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาอุปกรณ์มีราคาแพงกว่าอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังแบบสูบกลับประเภทความเร็วคงที่ซึ่งไทยใช้อยู่ประมาณ 2-3 เท่า

“เราต้องดูว่าเหมาะสมในการลงทุนหรือไม่ และต้องดูสภาพภูมิประเทศประกอบด้วยว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับประเภทปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานได้ จะสามารถสูบน้ำกลับขึ้นมาเก็บและผลิตไฟฟ้าได้รวดเร็วกว่าประเภทความเร็วคงที่อย่างไร แต่พลังงานน้ำ เป็นทางเลือกสำคัญที่จะรองรับพลังงานหมุนเวียนในระบบ จากความไม่แน่นอนของแดดและลม”

นายเทพรัตน์กล่าวว่า กฟผ.ศึกษาศักยภาพในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 2 แห่งที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะไม่ใช่ทุกเขื่อนจะทำได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 500 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธ.ค. 2562 นี้

การเตรียมความพร้อมของกฟผ.ในขณะนี้คือ ศึกษาดูงานจากต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการดีขึ้นในทุกปี ควบคู่กับการดำเนินการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเก่าให้รองรับพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

พลังงานหมุนเวียนที่กฟผ.จะนำมาใช้จะพิจารณาจากการ ทดแทนระบบไฟฟ้าเดิมได้ 100% และราคาต้องถูก โดยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) ในช่วง 10 ปีเราจะเร่งสปีดพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นทางเลือก ในอนาคต

เป็นความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของกฟผ. ในการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนที่จะมีบทบาทสำคัญของโลกในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน