สรท. ปรับเป้าส่งออกหดตัวมากขึ้น ส่วนปีหน้าไร้ปัจจัยบวกคาดโตไม่เกิน 0-1% หืดขึ้นคอ วิกฤตเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ปีหน้าคาดต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ วอนภาครัฐแก้ไขปัญหาจริงจัง

ส่งออกหืดจับคาดปีนี้ -2.5 ถึง -3% – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ปรับเป้าส่งออกปีนี้จะอยู่ระหว่างหดตัว -2.5 ถึง -3% บนสมมุติฐานค่าเงินบาท อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2563 ส่งออกจะขยายตัวเพียง 0-1% บนสมมุติฐาน ค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่พบปัจจัยบวก แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรค แบ่งเป็นต่างประเทศ เช่น สงครามการค้า การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง มาตรการ IMO Low Sulphur 2020 ที่จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เรื่องจากสายเรือขนส่งระหว่างประเทศเริ่มออกประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ ตามสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต้องการลดสารกำมะถันในเชื้อเพลิงน้ำมัน ทางรัฐบาลในสหภาพยุโรป จึงคิดค่าใช้จ่าย กับสายการเดินเรือ และสายการบินเพิ่ม

น.ส.กัณญภัค กล่าวต่อว่า แต่อุปสรรคที่น่าห่วงมากที่สุดคือปัจจัยภายในประเทศคือค่าเงินบาท ที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในทุกกลุ่มสินค้า และคาดว่าในปีหน้าค่าเงินบาทก็ยังจะแข็งค่าต่อไป โดยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเพราะเงินบาทยังถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจภายในประเทศก็ชะลอตัว เห็นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 3 ก็ขยายตัวได้เพียง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 2.6% โดยในไตรมาส 4 จะต้องขยายตัวที่ 2.8% จึงจะทำให้ปีนี้ขยายตัวที่ 2.6% และมีแนวโน้มว่าภาครัฐจะเรียกเก็บภาษีต่างๆ มากขึ้น เช่น ภาษีความหวาน ความเค็ม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การแบนสารเคมี ซึ่งอาจทำให้ไทยขาดวัตถุดิบในการนำมาผลิตสินค้าบางอย่าง เช่น แป้งสาลี ถั่วเหลือ ที่ไทยต้องนำเข้ามาจากประเทศที่ยังใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ไทยแบนไป เป็นต้น

“ปีหน้าสรท. มองว่าการส่งออกไม่น่าจะโตไปกว่านี้แม้ว่าฐานของปีนี้จะต่ำมาก แต่จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทำให้ยากที่จะทำให้เป้าการส่งออกเป็นบวกเพราะสินค้าส่งออกของไทยหลักติดลบเกือบทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งมากกว่าประเทศอื่นๆ และปีหน้าก็ยังจะแข็งต่อเนื่องอาจต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ยิ่งทำให้การส่งออกของไทยไม่ขยายตัวประเทศผู้นำเข้าหันไปซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่งหมด”น.ส.กัณญภัคกล่าว

ส่วนการส่งออกเดือนต.ค. 2562 มีมูลค่า 20,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว -4.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะการนำเข้ามีมูลค่า 20,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนส่งผลให้เดือนต.ค. 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในภาพรวมช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. 2562 ประเทศไทยส่งออกรวม 207,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว -2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนข้อเสนอ แนะที่สรท. ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข คือต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (สรท.) บริหารจัดการค่าเงินด้วยมาตรการที่เข้มแข็งไม่ให้บาทแข็งค่าไปมากกว่านี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมสรรพากร ต้องสนับสนุนรูปแบบการชำระค่าใช้จ่ายเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐแทนเงินบาทเพื่อลดความสูญเสีย จากการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าแลกเปลี่ยน เช่นการจ่ายค่าระหว่างขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

ภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพลิกฟื้นการส่งออกในฐานะกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สรท. เห็นด้วยกับการที่รมว.พาณิชย์ เดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้า เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทย และขอให้ทำต่อไปในปีหน้า เป็นต้น

หากการส่งออกไทยหดตัวหรือชะลอตัวก็จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นลูกโซ่ เช่น การผลิตลดลงก็จะทำให้การจ้างงานลดลง รายได้ต่อครัวเรือนก็จะลดลงไปด้วย ค่าใช้จ่าย และต้นทุนสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ลดลงทำให้เม็ดเงินที่จะหมุนกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย ส่งผลต่อตัวเลขของจีดีพี ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญมากขึ้น ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน